ในบทความนี้ หมอผู้เขียนอยากจะเล่าถึงลำดับขั้นตอนการคลอดลูกของสุนัข รวมถึงสิ่งที่เจ้าของสามารถพึงระวังสังเกต เตรียมพร้อมรับมือเพื่อให้การคลอดลูกของสุนัขที่บ้านเป็นไปได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย
ลำดับเหตุการณ์การคลอดลูกในสุนัข
การคลอดลูกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการบีบตัวของมดลูก ซึ่งมีเรื่องของฮอร์โมนมาเกี่ยวข้องมากมาย
คุณผู้อ่านเชื่อหรือไม่ว่า มดลูกจะไม่ทำการบีบตัว หากไม่มีสัญญาณส่งมาจากลูกสุนัขในท้อง เรื่องราวนั้นเริ่มต้นมาจากการที่ต่อมหมวกไตของลูกสุนัขในท้องแม่ทำการหลั่งฮอร์โมนชื่อว่า คอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่ง คอร์ติซอล (Cortisol) นี้จะถูกส่งผ่านเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือดของแม่สุนัข ทำให้เกิดกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนต่างๆในตัวแม่เป็นทอดๆ สุดท้ายส่งผลให้เกิดการบีบตัวของมดลูกในที่สุด ฮอร์โมนเหล่านี้ ได้แก่ พรอสตาแกลนดิน (Prostagladin), โปรเจสเตอโรน (Progesterone), ออกซิโตซิน (Oxytocin), และโปรแลคติน (Prolactin) ซึ่งมีชื่อเดียวกับฮอร์โมนในร่างกายของคนเรา
อาการเตือน. เมื่อเข้าใกล้กำหนดคลอดลูก ส่วนใหญ่ 2-3 วันก่อนคลอด แม่สุนัขมักจะเบื่ออาหาร ดูกระวนกระวาย มีอาการหอบ ไม่กินอาหารในวันที่จะคลอด อุณหภูมิร่างกายจะลดลงเหลือ 98.1 – 100 องศาฟาเรนไฮต์ (ปกติ 102.5) จะเริ่มคุ้ยเขี่ยที่นอนเพื่อหาที่คลอด เราควรต้องเตรียมผ้าปูรองให้เขา ถ้าไม่ได้อยู่ในตัวบ้านก็ต้องเป็นที่หลบแดดหลบฝนให้เขา
ช่วงระยะ 1-2 สัปดาห์จนถึงไม่กี่ชั่วโมงก่อนคลอด มักจะมีการขยายใหญ่ของเต้านม รวมทั้งอาจมีน้ำนมไหลให้เห็นได้ ในช่วง 6-12 ชั่วโมงก่อนคลอด

ปกติสุนัขพันธุ์ใหญ่ หรือสุนัขพันธุ์ไทย มักคลอดได้เอง เราไม่ต้องไปช่วยอะไร ยกเว้นลูกอาจจะแย่งกันออกแล้วเอาหัวไปล็อคกัน ก็จะเบ่งไม่ออกอยู่เป็นชั่วโมง ถึงเวลานั้นก็คงต้องพาไปหาหมอ ส่วนสุนัขบางพันธุ์ที่หัวค่อนข้างโต เช่น บูลด๊อก หรือแม่ตัวเล็กๆอย่างชิวาวา ปอมเมอราเนียน ยอร์คเชีย มักจะคลอดยาก ไม่สามารถผ่านอุ้งเชิงกรานออกมาได้ มักจะต้องผ่าคลอด
ลูกสุนัขส่วนใหญ่ ประมาณ 60% จะคลอดโดยเอาส่วนหัวออกก่อน ส่วนที่เหลือเกือบ 40% จะเอาส่วนท้ายออกโดยขาทั้งสี่เหยียดตรง โดยปกติแล้วลูกแต่ละตัวจะคลอดเว้นห่างกันประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชม. ลูกบางตัวอาจคลอดออกมาพร้อมถุงน้ำคร่ำที่ยังห่อตัวไว้ แต่บางตัวถุงน้ำคร่ำก็อาจฉีกขาดระหว่างการคลอดได้ เจ้าของบางท่านอาจพบว่า แม่สุนัขเบ่งลูกแล้วไม่สามารถหลุดออกมาได้ทั้งตัว ยังค้างๆคาๆ อยู่บริเวณช่องคลอดในระยะเวลาหนึ่ง อันนี้เราต้องรีบช่วยเหลือด้วยการใช้ผ้าแห้งที่สะอาดพันรอบๆส่วนของลูกสุนัขที่โผล่ออกมา (อาจเป็นส่วนหัว หรือส่วนก้น หรือส่วนของขาหลัง) ใช้มือกำเบาๆ แล้วโยกตัวลูกสุนัขขึ้น-ลงช้าๆ พร้อมกับช่วยดึงสลับกันไปจนลูกสุนัขหลุดออกมาได้
เมื่อลูกสุนัขออกมาแล้ว…
ตามปกติแม่สุนัขจะเลียลูกทันทีหลังจากที่คลอดออกมา เพื่อกระตุ้นการหายใจให้ลูกและทำความสะอาดของเหลวที่ติดตามตัวลูกโดยเฉพาะบริเวณใบหน้า จมูก ปาก แม่สุนัขจะทำการกัดสายสะดือให้ลูกด้วย แต่หากแม่สุนัขไม่กระทำดังกล่าว เช่นคุณแม่มือใหม่ หรือมีปัญหาการสบของฟันในช่องปากจึงไม่สามารถฉีกกัดถุงน้ำคร่ำและสายสะดือได้
- ผู้เลี้ยงต้องรีบช่วยเหลือ โดยช่วยด้วยการฉีกถุงน้ำคร่ำ
- เอาผ้าสะอาดนุ่มๆ เช็ดหน้า ผ้าที่ดีที่สุดคือผ้าก๊อส ซับเบาๆ บริเวณใบหน้า จมูก และในช่องปาก ตามตัว จับตัวลูกให้เอียงหัวลงต่ำเพื่อให้น้ำคร่ำไหลออกมาจากปากและจมูก หากมีลูกยางดูด ก็สามารถใช้ดูดน้ำคร่ำที่ติดค้างในช่องจมูกและช่องปาก
- หากแม่สุนัขไม่กัดสายสะดือเอง เราจะใช้ด้ายสะอาดผูกสายสะดือเพื่อห้ามเลือด โดยให้ห่างจากผนังช่องท้องของลูกประมาณ 1-2 ซม. อย่าผูกติดผนังช่องท้องเกินไป จะทำให้สะดือที่แห้งนั้นหลุดยากในภายหลังและติดเชื้อตามมาได้
- ใช้กรรไกรที่ผ่านการเช็ดแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อแล้ว ตัดเหนือจุดที่ผูกด้าย
- ใช้เบตาดีนหรือแอลกอฮอล์แต้มที่ปลายสะดือหลังจากตัด โดยทั่วไปสายสะดือจะแห้งและหลุดไปในที่สุดประมาณวันที่ 3
- จากนั้นเช็ดหน้าเช็ดตาเช็ดตัวอีกครั้ง ใช้ผ้าแห้งเช็ดลำตัวเบาๆ เพื่อช่วยกระตุ้นการหายใจของลูกสุนัข
- ถ้าลูกสุนัขค้างอยู่นานในช่องคลอดอาจเสียชีวิตเมื่อออกมา แต่ถ้าหายใจติดขัดหรือแผ่วเบา เราอาจต้องช่วยกระตุ้นด้วยการใช้ผ้านุ่มๆ หรือผ้าผืนเดิมที่เช็ดตัวเขาตั้งแต่แรก เช็ดตัวออกแรงเพิ่มอีกเล็กน้อย เช็ดตั้งแต่หัวลากไปถึงหาง ทำซ้ำๆได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง สลับกับการเอานิ้วนวดเบาๆบริเวณช่องอก จนกว่าจะเริ่มร้องหรือเริ่มเคลื่อนไหว วิธีนี้เป็นการกระตุ้นระบบหายใจให้ทำงานค่ะ ถ้าเขาสำลักน้ำคร่ำก็ต้องเอาตัวเอียงหัวต่ำ และเช็ดน้ำที่ออกมาเป็นระยะๆ หากมีลูกยางนิ่มๆ ก็ช่วยดูดในช่องปากอย่างระมัดระวัง
- สังเกตลูกสุนัขที่แข็งแรงจะร้องเสียงดี ผิวที่หน้า ปาก ลิ้น และเท้า มีสีชมพูแดงเรื่อ

โดยปกติ รกของลูกสุนัขแต่ละตัว ซึ่งเป็นแผ่นหนาๆและมีสีเขียว มักจะหลุดออกมาพร้อมตัวลูก หรือหลังการคลอดแต่ละตัวประมาณ 5-15 นาที หมอผู้เขียนไม่ค่อยพบภาวะรกค้างในสุนัข แม่สุนัขจะมีน้ำคาวปลาสีคล้ำๆออกจากช่องคลอด ในช่วง 3 สัปดาห์แรกภายหลังการคลอด และสุดท้ายก็จะแห้งหายไปเองตามธรรมชาติ
คำเตือนเรื่องความเชื่อในการกกไฟ. เนื่องจากอากาศบ้านเราร้อนมากอยู่แล้ว และแม่สุนัขก็จะขี้ร้อนด้วยจากเมตะโบลิซึมที่สูงขึ้นในช่วงคลอดและช่วงให้นมลูก หากไม่หนาวมากจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องกกไฟลูกสุนัขตามที่มีบางท่านแนะนำแบบไม่สมบูรณ์แบบ ทั้งนี้เป็นเพราะสุนัขไม่มีต่อมเหงื่อเพื่อระบายความร้อนแบบมนุษย์เรา
ผู้เลี้ยงควรพึงระวังภาวะคลอดยาก
โดยธรรมชาติแล้ว สัตว์ทุกชนิดมักจะคลอดลูกได้ด้วยตนเอง มิเช่นนั้นคงจะสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปแล้ว แต่ก็อาจพบได้บ้างในสัตว์ที่มีกายวิภาคผิดปกติแตกต่างไปจากสัตว์ตัวอื่นๆ
ภาวะคลอดยากหมายถึง การที่แม่สุนัขตั้งท้องจนครบกำหนดคลอดแล้ว และเริ่มมีการบีบตัวของมดลูกพร้อมกับการเบ่งคลอดนานเกินกว่า 30 นาที แล้วไม่สามารถเบ่งลูกออกมาได้ หรือมีเว้นระยะเวลาการคลอดลูกตัวต่อๆ ไป ทิ้งช่วงนานเกิน 2 ชั่วโมง หรือการที่แม่สุนัขตั้งท้องนานเกินกว่า 72 วัน (นับจากวันผสมพันธุ์) แต่ไม่แสดงอาการเบ่งคลอดแต่อย่างใด
ภาวะคลอดยาก มีหลากหลายสาเหตุ ได้แก่
- มดลูกเฉื่อย เนื่องมากจากการที่มีจำนวนลูกในท้องมากเกินไป
- ลูกสุนัขตัวใหญ่กว่าช่องเชิงกราน ไม่สามารถผ่านออกมาได้
- ลูกสุนัขแย่งกันออก อาจมีการขัดกัน หรือหัวลูกล๊อคกัน จึงผ่านออกไม่ได้ทั้งสองตัว
- ลูกสุนัขออกผิดท่า (ที่ถูกต้องนั้นส่วนหัวควรออกมาก่อน) เช่น ขาหน้าออกมาก่อนแต่หัวพับไปด้านหลัง หรือท่าก้นที่ใช้ขาหลังออกมาก่อน
- สายรกพันตัวลูกสุนัข ทำให้ดึงรั้งไว้ภายใน
- แม่สุนัขมีเนื้องอก หรือผนังช่องคลอดหนาตัวผิดปกติ
- แม่สุนัขอ้วนเกินไป
หากแม่สุนัขเบ่งนานเกินไป และไม่มีลูกสุนัขออกมา เจ้าของควรรีบนำแม่สุนัขส่งสัตวแพทย์ใกล้บ้าน เพราะหากลูกสุนัขค้างภายในนานเกินไประหว่างคลอด เขาจะขาดออกซิเจนและอาจเสียชีวิตได้
และหากผู้เลี้ยงสนใจวิธีการดูแลหลังคลอด ก็สามารถหาอ่านจากบทความเรื่อง “การดูแลแม่สุนัขและลูกสุนัขหลังการคลอด” ได้นะคะ

- ชีวิตของลา - October 31, 2021
- คอลลี่กับยาไอเวอร์เม็กติน - July 25, 2021
- แมวกินยาพาราไม่ได้! - July 25, 2021