We do better when we know

โรคไข้หัดแมว (Feline panleukopenia)

โรคนี้เป็นโรคร้ายแรงและติดต่อในหมู่แมว หากมีการระบาดของโรค มักจะเห็นแมวป่วยล้มตายไปเป็นจำนวนมากในคราวเดียว ฉะนั้นกันไว้ดีกว่าแก้ ด้วยการฉีดวัคซีน!

เมื่อมีโรคระบาดแล้ว แมวจะป่วยและเสียชีวิตจนเกือบจะสูญพันธุ์ไปจากบ้านเลยทีเดียว จากประสบการณ์ของหมอ ที่พบคือ จะมีเพียงไม่กี่ตัวที่พอจะหัวแข็ง และสามารถรอดชีวิตจากโรคนี้ได้

โรคไข้หัดแมวนี้เป็นโรคประจำถิ่นในเมืองไทย การระบาดเกิดได้กับทั้งแมวจรในวัด สถานรับเลี้ยงแมวจร หรือในบ้านที่เลี้ยงแมวเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้ฉีดวัคซีนให้พวกเขา

มีอาการอย่างไร

เมื่อแมวได้รับเชื้อมา จะมีการฟักตัวของโรคก่อน ใช้เวลาประมาณ 5-10 วัน ช่วงนี้เราจะไม่เห็นอาการอะไร หลังจากนั้นเขาจะเริ่มแสดงอาการคือ ซึม ตาโรย มีไข้สูง (อุณหภูมิร่างกายสูงถึง 104-105 องศาฟาเรนไฮท์) อาเจียน ผิวหนังแลดูแห้งเนื่องจากร่างกายเริ่มขาดน้ำ ต่อมาอาการชัดเจนมากขึ้นคือ ท้องเสีย อุจจาระเป็นสีแดง มีเลือดปน นั่นเป็นเพราะผนังลำไส้กำลังอักเสบอย่างรุนแรง เขามักเสียชีวิตใน 1-5 วันต่อมา

แมวที่ติดเชื้อแล้ว จะขับเชื้อไวรัสออกมาสู่สิ่งแวดล้อมผ่านปัสสาวะและอุจจาระ การติดต่อโรคจึงเกิดผ่านกินอาหาร และน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน รวมไปถึงการใช้กระบะทรายร่วมกันก็ทำให้โรคนี้ติดต่อไปสู่แมวตัวอื่นได้

การใช้กระบะทรายร่วมกันทำให้โรคนี้ติดต่อไปสู่แมวตัวอื่น
Image from diamondpet.com
โรคไข้หัดแมวสามารถติดต่อผ่านการกินอาหารและน้ำ ที่มีเชื้อปนเปื้อนมาจากแมวที่ป่วย

สาเหตุเกิดจากอะไร โรคนี้ติดง่ายหรือไม่

โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อ สาเหตุมาจากเชื้อไวรัสชื่อ Feline Parvovirus (ตัวย่อสั้นๆว่า FPV) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสัตว์ตระกูลแมว อัตราป่วยและเสียชีวิตสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลูกแมวที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ทางสถิติพบว่า พวกเขามักเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน 

ในทางการแพทย์ โรคไข้หัดแมวนี้มีหลายชื่อ ได้แก่ Feline distemper, Feline infectious enteritis, หรือ Feline panleukopenia แต่ไม่ว่าเราจะเรียกชื่อโรคนี้ว่าอย่างไร สาเหตุของโรคนั้นเกิดมาจากเชื้อไวรัสตัวเดียวกัน  

การรักษาทำอย่างไร

หากผู้เลี้ยงพบว่า แมวมีอาการป่วยข้างต้น ควรรีบพาเขาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิต 

แมวที่ป่วยควรต้องได้รับสารน้ำและอาหารผ่านทางหลอดเลือด เพื่อพยุงร่างกายอย่างเร่งด่วน และต่อเนื่องหลายวัน สัตวแพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวะนะ และยารักษาตามอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อประคองชีวิตของเขาเอาไว้ 

สิ่งที่ผู้เลี้ยงทำได้

ผู้เลี้ยงต้องแยกแมวป่วยออกจากฝูงโดยเร็ว จำเป็นต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในภาชนะต่างๆ รวมถึงกระบะทรายอย่างทันที และพยายามไม่เลี้ยงแมวแบบแออัดจนเกินไป การกำจัดอุจจาระและสิ่งปฏิกูลอย่างถูกสุขอนามัยเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันการระบาดของโรค

หลังจากนั้น ผู้เลี้ยงควรให้แมวตัวอื่นๆ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หัดแมว หากพวกเขายังไม่เคยได้รับวัคซีน หรือยังไม่เคยมีภูมิต้านทานของโรคนี้มาก่อน 

ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

โรคนี้ป้องกันได้ง่าย ด้วยการนำแมวของเราไปรับวัคซีนตั้งแต่อายุยังน้อย คือ 2 เดือนขึ้นไป วัคซีนนี้มีราคาไม่แพงเลย และเป็นวัคซีนที่ผ่านการใช้งานมายาวนานแล้ว ถือว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง

หากรักแมว ก็ขอให้เลี้ยงอย่างรับผิดชอบชีวิตเขา พาเขาไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หัดแมวนะคะ

สพ.ญ. พจมาน วัชราภิชาต
Latest posts by สพ.ญ. พจมาน วัชราภิชาต (see all)