โรครุนแรงของสุนัขที่ยังครองแชมป์ ไม่มีโรคใดๆทำลายสถิติได้คือ โรคไข้หัดสุนัข เป็นแล้วตายเกือบทุกราย ถึงหายก็มักไม่กลับมาเป็นปกติ แต่ข่าวดีคือ มีวัคซีนป้องกันได้ !
อาการโรคหัดเป็นอย่างไร
โรคไข้หัดสุนัขมีความรุนแรงมาก เป็นได้กับทุกอายุ สุนัขที่ป่วยมักแสดงอาการปอดบวมรุนแรง คือหอบ ไอ มีไข้ขึ้น มีขี้มูกขี้ตาเกรอะกรัง มีลักษณะสีเหลืองข้น ท้องเสีย บางตัวมีตุ่มหนองมากมายใต้ท้อง ฝ่าเท้าหนาตัวขึ้นมากเป็นแผ่นๆแข็ง หากอาการรุนแรงมากขึ้นก็จะมีอาการชักกระตุกและตายในที่สุด
สุนัขที่ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตน้อย ไม่ถึง 5% (โดยเฉพาะลูกสุนัข) ส่วนที่หายจากโรคก็มักมีความพิการหลงเหลือ เช่น ตาบอดตาใส ชักแบบลมบ้าหมู มีอาการผิดปกติทางสมองแบบถาวร เป็นต้น
สาเหตุเกิดจากอะไร โรคนี้ติดง่ายหรือไม่
โรคไข้หัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิด Paramyxovirus ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัดและคางทูมในคน แต่โรคหัดในสุนัขนี้ไม่ติดคน แต่ติดต่ออย่างง่ายดายและรวดเร็วในสัตว์ตระกูลสุนัขด้วยกัน เช่น หมาป่า หมาจิ้งจอก รวมถึงตระกูลอื่นเช่น เฟอเร็ต แรคคูน มีรายงานว่าแพนด้าก็ติดโรคนี้ได้เช่นกัน แต่ไม่ติดแมว
ไวรัสชนิดนี้เดินทางไปทั่วร่างกาย โดยเฉพาะระบบน้ำเหลือง ปอด ทางเดินอาหาร และระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์ที่ป่วยจะบกพร่องและอ่อนแอลง ทำให้เกิดการติดเชื้อชนิดอื่นๆต่อมาได้ง่าย เช่นปอดบวม หากไวรัสเดินทางไปถึงสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ก็จะทำให้เกิดอาการชักอันเนื่องมาจากสมองอักเสบ
ไวรัสชนิดนี้ติดต่อไปยังสุนัขตัวอื่นได้ง่ายมาก (highly contagious) ที่แย่ไปกว่านั้นคือสามารถติดได้ทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นการหายใจ ไอจามใส่กัน กินอาหารร่วมกัน กินน้ำถ้วยเดียวกัน เลียกัน หรือแม้กระทั่งเผลอไปสัมผัสปัสสาวะของสุนัขที่ป่วยเป็นโรคก็ติดได้ หมอผู้เขียนเคยพบเห็นการระบาดโรคหัดสุนัขอยู่หลายครั้งในสุนัขที่เลี้ยงตามชุมชนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน พอเกิดการระบาดขึ้น ก็แทบจะล้างบางสุนัขย่านนั้นไปเลยทีเดียว บางตัวรักษากันนาน 3 เดือน ไม่ตายแต่ก็ไม่หาย ทรมานทั้งสุนัขและเจ้าของ (รวมทั้งหมอด้วย)
โรคนี้หากเป็นแล้วต้องรีบนำไปรักษา
เนื่องจากเป็นโรคที่รุนแรง ควรรีบพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะลูกสุนัขที่ป่วย และเนื่องจากโรคนี้ติดต่อได้ง่ายและรวดเร็ว ผู้เลี้ยงควรแยกสุนัขป่วยออกจากตัวอื่นให้เร็วที่สุด และเมื่อนำไปคลินิกหรือโรงพยาบาล ควรพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขของเราไปสัมผัส ดมกัน หรือเข้าใกล้สัตว์อื่นๆ ที่กำลังรอตรวจรักษาอยู่
ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน !
ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดลดลงในเขตเมือง ซึ่งน่าจะเนื่องจากเจ้าของทราบวิธีป้องกันโรคด้วยการพาเจ้าตัวน้อยไปรับการฉีดวัคซีนตั้งแต่อายุได้ 2 เดือน โดยเข็มต่อๆไป จะฉีดกระตุ้นที่ 3 และ 4 เดือน หลังจากนั้นทำการฉีดกระตุ้นต่อเนื่องทุกปี
สุนัขอายุน้อยถือเป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะภูมิต้านทานไม่แข็งแรงเต็มที่ เจ้าของจึงควรให้เขาได้รับวัคซีนป้องกันให้เร็วที่สุด สำหรับสุนัขโตแล้วก็ควรได้รับวัคซีนต่อเนื่อง เพราะโรคนี้ติดได้ทุกเพศทุกวัย เป็นแล้วโอกาสตายสูง ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษา

- ชีวิตของลา - October 31, 2021
- คอลลี่กับยาไอเวอร์เม็กติน - July 25, 2021
- แมวกินยาพาราไม่ได้! - July 25, 2021