We do better when we know

โรคไข้หวัดแมว (Cat flu)

ถ้าผู้เลี้ยงเห็นว่า แมวมีขี้ตาเกรอะกรัง มีน้ำมูกเขรอะ และเขาไม่เคยรับวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน หากเป็นเช่นนี้ เขาอาจจะกำลังป่วยเป็นโรคไข้หวัดแมว

โรคติดต่อนี้ชนิดนี้นับวันจะเป็นปัญหาสำหรับแมวและผู้เลี้ยงมากขึ้นทุกที เมืองไทยมีการระบาดของโรคเกือบทุกพื้นที่ พบได้ตลอดปี โรคนี้พบบ่อยโดยเฉพาะในลูกแมว หรือแมวที่ไม่เคยรับวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน โรคนี้ติดต่ออย่างรวดเร็วในหมู่แมวด้วยกัน ดังนั้นแมวควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย

มีอาการอย่างไร

แมวที่ติดเชื้อหวัดชนิดนี้ เริ่มจากมีขี้ตาเกรอะกรัง น้ำมูกเขรอะ หากเป็นมาก หนังตาจะบวมปิด จนลืมตาไม่ได้ 

ถ้าโรคนี้เกิดกับแมวจร จะน่าสงสารอย่างมาก เพราะเขาจะหาอาหารกินไม่ได้ เนื่องจากตามองเห็นลำบาก ในขณะเดียวกัน จะเจ็บคอมาก ทำให้กลืนอาหารไม่ได้ บางตัวถึงกับตาบอดถาวรไปเลย เพราะกระจกตาเป็นแผลหลุม และท้ายที่สุดกระจกตาทะลุ ก็มีให้พบอยู่บ่อยๆโดยเฉพาะกับแมวที่ยังอายุน้อย

ขี้ตาเกรอะกรัง น้ำมูกเขรอะ (Image from fortitudevalleyvet.com.au )

สาเหตุเกิดจากอะไร 

โรคไข้หวัดแมว หรือบางทีเรียกว่า โรคระบบทางเดินหายใจในแมว (Cat flu) เป็นปัญหาสำหรับแมวอย่างมาก สาเหตุเกิดได้จากทั้งเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย เชื้อแต่ละชนิดทำให้มีลักษณะอาการป่วยที่เด่นต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะเป็นเชื้อตัวไหน หากไม่รักษา ก็สามารถเกิดอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตหรือพิการได้ทั้งสิ้น

เชื้อโรคหลักๆ ที่ก่อให้เกิดไข้หวัดแมวมี 4 ชนิดด้วยกัน ผู้เลี้ยงสามารถสังเกตเห็นอาการป่วยเหล่านี้ได้ไม่ยาก

1.เชื้อไวรัส Feline herpesvirus (FHV-1) ทำให้ระบบทางเดินหายใจอักเสบชนิดเฉียบพลัน เยื่อบุตาอักเสบ เจ็บตา เยื่อจมูกอักเสบ มีแผลหลุมที่กระจกตา มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำตาไหล อาจใสหรือสีเหลืองปนเลือด จาม น้ำมูกกรัง บางตัวมีอาการไอ และน้ำลายไหล ลูกแมวที่ติดเชื้อขนิดนี้ จะมีอาการรุนแรงจนตาบอดได้

เชื้อนี้แฝงตัวอยู่ในระบบประสาท แม้ว่าจะหายป่วยแล้ว เขาก็ยังสามารถปลดปล่อยเชื้อโรคออกสู่ภายนอกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่ร่างกายมีภาวะเครียด เช่น ช่วงการคลอดลูก หรือให้นมลูก ดังนั้นจึงเป็นคำตอบว่า ทำไมบางครั้ง เราสังเกตเห็นว่า ลูกแมวหลังคลอดสามารถมีอาการเยื่อบุตาอักเสบรุนแรง ตาบวมปิดเป็นหนอง ทั้งๆที่ยังกินนมแม่อยู่

กระจกตาด้านขวาเป็นแผล (Image from animalwised.com)

2.เชื้อไวรัส Feline calicivirus (FCV) ทำให้แมวเป็นหวัดชนิดรุนแรง อาการป่วยที่สังเกตได้คือ มีการอักเสบภายในช่องปาก เยื่อบุปากมีสีแดง มีแผลหลุมที่ลิ้น จาม มีน้ำมูก มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำลายไหล บางตัวอาจมีอาการไอ ลามไปที่ปอด เป็นปอดบวมในที่สุด บางตัวมีแผลหลุมที่จมูก ริมฝีปาก ใบหู ตา และฝ่าเท้า ทำให้เจ็บขา และเดินกระเผลก บางตัวเกิดภาวะตับวาย จึงเกิดอาการตัวเหลืองตาเหลือง บางครั้งมีอุจจาระปนเลือดให้เห็น หากไม่รักษาจะเสียชีวิตในที่สุด

แมวที่เคยป่วยจะสามารถปลดปล่อยเชื้อออกสู่ภายนอกได้ตลอดชีวิต เชื้อโรคจะอาศัยอยู่ตามเนื้อเยื่อตามลำคอ และต่อมทอนซิล

เยื่อบุต่างๆ ในปากมีสีแดง เช่น เหงือกอักเสบ (Image from smallanimaltalk.com)

3.เชื้อแบคทีเรีย Chlamydophila felis จะเข้าไปทำลายเซลล์เยื่อบุของอวัยวะต่างๆ เป้าหมายหลักคือเยื่อบุตา ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ หนังตาบวมปิด มีน้ำตาใสในระยะแรก ต่อมาจะเกิดน้ำตาขุ่น ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ แต่ก็อาจพบว่า มีไข้ เบื่ออาหารได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะยังคงกินอาหารได้เป็นปกติ การรักษาไม่ยุ่งยากเท่ากับการติดเชื้อไวรัส 2 ชนิดข้างต้น แต่ต้องให้ยาที่ถูกโรคเป็นระยะเวลา 2-4 สัปดาห์

หนังตาบวม  (Image from clinicianbrief.com)

4.เชื้อแบคทีเรีย Bordetella bronchiseptica ทำให้แมวมีไข้ ไอ จาม มีสิ่งคัดหลั่งจากตา หากตรวจร่างกาย จะพบว่าต่อมน้ำเหลืองโต อาการอาจหายเองได้ภายใน 10 วัน แต่หากรุนแรงขึ้น ก็จะเกิดปอดบวม ทำให้หายใจลำบาก เยื่อบุในปากเห็นเป็นสีเขียวคล้ำ และเสียชีวิตในที่สุด ลูกแมวอายุน้อยกว่า 10 สัปดาห์ มักจะมีปอดบวมในที่สุด 

โรคนี้ติดต่ออย่างไร

โรคนี้ติดต่อง่ายในแมวทุกอายุ ทางการสัมผัสโดยตรง กินอาหาร น้ำ ร่วมกัน แมวที่ติดเชื้อจะขับเชื้อผ่านทางสิ่งคัดหลั่งจากตา จมูก และปาก

การรักษาทำอย่างไร

ผู้เลี้ยงต้องพาเขาไปพบสัตวแพทย์ แมวที่ป่วยจากโรคหวัดนี้ จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ด้วยยาประเภทต่างๆ ตามอาการที่พบ เช่น ยาต้านจุลชีพ ยาขยายหลอดลม ยาลดน้ำมูก ยาหยอดตา **ห้ามผู้เลี้ยงซื้อมาหยอดเอง** เพราะเสี่ยงจากผลเสียจากตัวยาบางชนิด

สัตวแพทย์มักพิจารณาให้ยาบำรุงเสริม ร่วมกับสารน้ำและอาหารทางหลอดเลือดดำ เนื่องจากพวกเขามักกินข้าวไม่ได้ หรืออดข้าวมาแล้วหลายวัน

สิ่งที่ผู้เลี้ยงทำได้

หากสงสัยว่า แมวที่บ้านอาจจะกำลังเป็นโรคหวัดแมว หมอผู้เขียนมีคำแนะนำเบื้องต้นดังนี้

  1. จำเป็นต้องพาเขาไปพบสัตวแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
  2. แยกแมวป่วยออกจากฝูง เพื่อการดูแลรักษาและไม่ให้เขาแพร่เชื้อโรคไปยังตัวอื่น
  3. ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคบริเวณที่แมวอยู่ ทุกวัน
  4. เปลี่ยนทรายในกระบะใหม่ เพื่อลดการแพร่โรค
  5. ภาชนะใส่น้ำและอาหาร ต้องทำความสะอาดทุกวัน
  6. ไม่เลี้ยงแมวแออัดเกินไป
  7. กำจัดสิ่งขับถ่ายอย่างถูกสุขลักษณะ

ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

วัคซีนป้องกันโรคหวัด มักมาร่วมกันกับวัคซีนป้องกันไข้หัดแมวภายในเข็มเดียวกัน สะดวกมากๆ สำหรับเจ้าของแมว

ผู้เลี้ยงควรนำลูกแมวไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนสำหรับลูกแมวทั่วไป ผู้อ่านสามารถอ่านได้ในบทความเรื่อง วัคซีนป้องกันโรคในแมว

สพ.ญ. พจมาน วัชราภิชาต
Latest posts by สพ.ญ. พจมาน วัชราภิชาต (see all)