We do better when we know

โรคลิวคีเมียแมว (Feline leukemia)

สำหรับทาสแมวแล้ว หลายๆท่านคงเคยได้ยินชื่อโรคลิวคีเมียแมวมาบ้าง ในแวดวงการแมวเมืองไทย ชื่อเสียงของโรคนี้ ถือได้ว่ากำลังจะแซงหน้าโรคไข้หัดแมวในไม่ช้า 

เนื่องจากความชุกของโรคตอนนี้สูงถึง 15-20% นั่นคือ ใน 10 ตัว อาจมีประมาณ 2 ตัวที่กำลังมีเชื้ออยู่ ตัวเลขนี้ถือว่าค่อนข้างสูงทีเดียวในแง่ของการระบาดและแพร่กระจายโรค 

โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว จะทำให้มีปัญหาเรื้อรังตามมามากมาย เช่น ภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง หรือแม้กระทั่งมะเร็ง ดังนั้นป้องกันไว้ย่อมดีกว่าแก้ วัคซีนป้องกันโรคนี้ราคาไม่แพงเลย

มีอาการอย่างไร

สำหรับแมวที่ติดโรคลิวคีเมียนี้ เริ่มแรกอาจไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่เมื่อมีอาการป่วยแล้ว ผู้เลี้ยงอาจสังเกตเห็นว่าเขามีไข้บ่อย ซึม ท้องเสีย เหงือกซีด ขนไม่สวย ดูป่วย ไม่สดชื่น ไม่ค่อยกินอาหาร ผอมลงเรื่อยๆ โทรม เริ่มมีโรคติดเชื้อต่างๆ รุมเร้าบ่อยขึ้น เช่น โรคติดเชื้อที่ผิวหนัง ที่ทางเดินหายใจ หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบ โดยทั่วไปเขาจะแลดูมีร่างกายเสื่อมถอยเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

โรคนี้เมื่อเป็นแล้วภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายจะบกพร่อง จึงทำให้เกิดโรคต่างๆ แทรกซ้อนตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคติดเชื้อ หรือโรคมะเร็ง

เครียด .. ผลเลือดเราเป็นบวก ต้องไปตรวจรอบสอง หมอบอก  ..

สาเหตุเกิดจากอะไร ติดต่อง่ายไหม

โรคนี้มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อว่า เรโทรไวรัส  (Retrovirus) ชื่อนี้อาจคุ้นหูสำหรับหลายคน เนื่องจากเป็นชื่อเดียวกันกับไวรัสที่ทำให้ก่อโรคเอดส์ในคน แต่โรคลิวคีเมียในแมวนี้ไม่ติดต่อคนและสุนัข เจ้าของไม่ต้องกังวล แค่ใช้ชื่อเดียวกัน 

ไวรัสตระกูลนี้ มีนิสัยชอบสอดแทรกตัวไปรวมกับสายพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) ในเซลล์ร่างกายของแมวที่ติดเชื้อ ทำให้การติดเชื้อนั้นเป็นชนิดถาวร หากเชื้อลามเข้าสู่เซลล์ไขกระดูกแล้ว แมวตัวนั้นจะเริ่มแสดงอาการป่วยให้เห็น เช่น มีไข้บ่อย โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวผิดปกติ จึงเป็นที่มาว่า ทำไมพวกเขามีโรคติดเชื้อแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ง่ายผิดปกติ

การติดต่อโรคในหมู่แมวนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายมาก แมวที่เป็นโรคจะปล่อยเชื้อออกมาทางน้ำลาย น้ำมูก เลือด อุจจาระ ปัสสาวะ รวมถึงน้ำนมแม่ แมวที่เป็นปกติ มักจะติดเชื้อโรคผ่านการกินอาหารและน้ำที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อน ในหลายๆครั้ง การติดเชื้อเกิดจากการกัดกัน 

เรื่องของโชคนั้น ไม่เข้าใครออกใคร แมวบางตัวโชคดี รับเชื้อมาแล้วแต่กลับไม่ป่วย แต่หลายตัวนั้นโชคร้าย รับเชื้อแล้วติดโรคในที่สุด เมื่อติดโรคแล้ว จะสามารถตรวจพบเชื้อลิวคีเมียในกระแสเลือดได้ 

แมวที่ติดโรคแล้ว อาจแสดงอาการป่วยหรือไม่ก็ได้ เจ้าของเองก็อาจไม่สามารถเห็นอาการใดๆ ถึงแม้จะเขาไม่มีอาการ แต่เขาสามารถปล่อยเชื้อกระจายสู่สิ่งแวดล้อมผ่านทางน้ำลาย น้ำมูก และสิ่งคัดหลั่งต่างๆได้ตลอดเวลา 

มีเพียงร้อยละ 30 ของแมวที่ติดเชื้อแล้ว ที่สุดท้ายแล้วจะมีอาการป่วยรุนแรงและแสดงออกให้เห็นในที่สุด เมื่อถึงตอนนั้นแล้วไวรัสก็ได้ทำการแพร่กระจายไปทั่วร่างกายเสียแล้ว

โรคลิวคีเมียแมว ติดต่อได้ ผ่านการกัดกัน
ติดต่อได้ผ่านทางน้ำลาย

การรักษาทำอย่างไร

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะที่สามารถทำลายไวรัสชนิดนี้ได้ มีเพียงแค่การรักษาประคับประคองชีวิต เช่น การใช้สาร Interferon Omega (IFN) ร่วมกับการให้สารเสริมต่างๆ เพื่อพยุงร่างกาย เพิ่มโอกาสรอดชีวิต และยืดอายุขัย เท่านั้น 

IFN เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส ผลการรักษาจึงได้ผลดี หากใช้ในระยะแรกของการติดเชื้อซึ่งยังมีการแพร่กระจายเชื้อในร่างกายไม่มากนัก 

แต่ข้อจำกัดของการรักษาด้วย IFN นั้นยังมีอยู่มาก เพราะราคาสูง ต้องฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 3 ช่วงเวลา ในแต่ละช่วงใช้เวลา 5 วัน รวมทั้งสิ้น 15 ครั้งจึงจะครบคอร์ส 

ดังนั้นหมอแนะนำว่า เจ้าของควรให้แมวทุกตัวที่บ้านได้รับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเขาได้รับการตรวจเลือดแล้วพบว่า ไม่พบเชื้อโรคลิวคีเมียมาก่อน ราคาวัคซีนนั้นถูกกว่าค่ารักษาอย่างมาก

เพื่อให้ผู้เลี้ยงแมวเห็นภาพ หมอจะเปรียบเทียบราคาให้ดูเป็นตัวอย่าง

  • อัตราค่าวัคซีนลิวคีเมีย        ประมาณ 300 – 600 บาท
  • อัตราค่าตรวจเลือด             ประมาณ 400 – 600 บาท
  • อัตราค่ารักษาลิวคีเมียร่วมกับยาอื่นๆ  20,000 บาทขึ้นไป (!)

สิ่งที่ผู้เลี้ยงทำได้

เมื่อแมวที่บ้าน ตรวจเลือดแล้วพบเป็นผลบวกต่อเชื้อลิวคีเมีย เจ้าของควร …

  1. แยกแมวออกจากฝูง หากเขาเป็นสมาชิกใหม่ก็ไม่ควรนำเข้าฝูง ควรแยกเลี้ยงเดี่ยว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคไปสู่ตัวอื่นที่บ้าน
  2. หากเขาอายุ 6-8 เดือนขึ้นไป ควรพาไปทำหมันถาวร ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่กระจายโรคไปสู่ตัวอื่น เมื่อเขาเข้าสู่ช่วงผสมพันธุ์
  3. หลังการตรวจเลือดครั้งแรกไปแล้ว 6 เดือน ควรพาเขาไปตรวจเลือดซ้ำครั้งที่ 2 ซึ่งหากมีผลเป็นลบในครั้งที่ 2 ก็แสดงว่า กระบวนการโรคนั้นไม่ลุกลาม ถือว่าโชคดีกับทั้งแมวและเจ้าของ สามารถนำกลับเขาเข้าฝูงได้ เพราะเขาจะไม่ปล่อยเชื้อไวรัสออกมาให้กับตัวอื่นๆได้อีกแล้ว แต่หากผลยังเป็นบวก ก็แสดงว่า ร่างกายของเขาไม่สามารถต่อต้านโรคได้ ในอนาคต เขาอาจแสดงอาการจากภาวะภูมิร่างกายถดถอย และต้องเลี้ยงแยกตลอดไป …

ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

แน่นอนที่สุด โรคนี้ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน และที่สำคัญคือราคาไม่แพงเลย

สพ.ญ. พจมาน วัชราภิชาต
Latest posts by สพ.ญ. พจมาน วัชราภิชาต (see all)