โรคพิษสุนัขบ้า น่ากลัวแต่ป้องกันได้ง้ายง่าย ฉีดวัคซีนป้องกัน รับรองคุ้มสุดๆ ในคอลัมน์นี้หมออยากจะแชร์ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคนี้ให้คุณผู้อ่านนะคะ
สาเหตุเกิดจากอะไร
เกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อว่า Rabies เป็นโรคติดต่อภายในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด (mammals) รวมทั้งคนด้วย โรคนี้ไม่ได้มีความจำเพาะต่อสุนัขเลย (ฉะนั้นที่เราเรียกกันว่าโรคพิษสุนัขบ้านั้นจริงๆก็ไม่ถูกสักทีเดียว) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น แมว หนูชนิดต่างๆ กระต่าย แรคคูน หมาป่า สกั๊งค์ และค้างคาว สามารถติดต่อและป่วยได้หมด ฉะนั้นผู้เลี้ยงสัตว์จึงจำเป็นต้องนำสัตว์เลี้ยงไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างสม่ำเสมอ จริงๆแล้วก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนเราเช่นกันที่จะได้รับวัคซีนนี้ ที่เห็นได้ประจำคือ ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ทั่วไป
โรคนี้หากป่วยแล้ว โอกาสตาย 100% ไม่มีใครสามารถรอดชีวิตได้เลยหากแสดงอาการป่วยแล้ว
ช่องทางหลักของการติดต่อคือ สัตว์ที่ป่วยจะมีเชื้อไวรัส Rabies ปะปนออกมากับน้ำลาย เมื่อไปกัดผู้อื่นก็จะแพร่เชื้อไวรัสเข้าทางบาดแผล หากผู้ที่ถูกกัดไม่ได้รับการรักษาอย่างทันทีด้วยการฉีดเซรุ่ม ร่วมกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้วนั้น เชื้อโรคจะค่อยๆ แพร่กระจายเชื้อเข้าสู่สมองส่วนกลางผ่านทางเส้นประสาทในที่สุด
ด้วยความที่เชื้อไวรัสเดินทางตามเส้นประสาทด้วยความเร็วประมาณ 10 นาโนเมตร ถึง 400 มิลลิเมตร ต่อวัน จึงมักพบว่า ระยะฟักโรคนั้นมีความยาวนานได้ตั้งแต่ 3 ถึง 24 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายและอายุของผู้ถูกกัด
นอกจากการรับเชื้อผ่านบาดแผลโดยตรงแล้ว ในอดีตมีรายงานเช่นกันว่า สามารถพบผู้ติดเชื้อ Rabies ผ่านทางอากาศในผู้ที่เข้าไปในถ้ำที่มีค้างคาวติดเชื้ออาศัยอยู่ โดยคาดว่าได้รับเชื้อจากสิ่งคัดหลั่งของค้างคาวที่มีเชื้อไวรัสติดปนมาในปริมาณมาก(เข้มข้น) นอกจากนี้ก็เคยพบมีการติดเชื้อจากการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อพิษสุนัขบ้า อีกทั้งพบว่าสามารถถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกทางรกได้อีกด้วย
เชื้อไวรัสมักพบในน้ำลายได้ก่อนที่จะแสดงอาการป่วย 1-5 วัน และพบได้ตลอดจนสัตว์ป่วยนั้นตายลงซึ่งมักมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 13 วัน
อาการเป็นอย่างไร
อาการป่วยหลักๆของคนและสัตว์ก็จะคล้ายๆกัน เมื่อเชื้อไวรัสแพร่พันธุ์มาถึงสมองส่วนกลาง ก็จะเริ่มแสดงอาการกล้ามเนื้อต่างๆ เริ่มเป็นอัมพาต เริ่มมีพฤติกรรมต่างๆเปลี่ยนไป จำเจ้าของไม่ได้ กล้ามเนื้อที่ใช้สำหรับกลืนกินอาหารเริ่มมีปัญหาทำให้กินอาหารและน้ำไม่ได้ ทั้งๆที่หิว
ในสัตว์ที่ป่วย จะมีอาการได้ 2 แบบ ได้แก่
- แบบซึม คือเขามักจะหลบอยู่มุมมืด เพราะมีความไวต่อแสงแดดจ้า ไม่ยอมกินอาหาร สุดท้ายก็ตายไป
- แบบอาละวาดก่อนตาย หมอผู้เขียนจำได้ติดตา สำหรับสุนัขที่แสดงอาการแบบที่สองนี้ น่าสงสารมากๆ เขามีอาการไข้สูง หางตก ปากอ้าตลอดเวลา หุบปากไม่ได้ มีเศษดินติดตามลิ้นที่ห้อยออกมา อยากกินน้ำก็กินไม่ได้ จะหงุดหงิด และมีแนวโน้มจะกัดคนที่จะเข้ามาจับตัว เขาจำเจ้าของตัวเองไม่ได้
ทำอย่างไรดี หากไม่แน่ใจว่าเป็นโรคนี้หรือเปล่า
หากเจ้าของพบว่า สุนัขดูมีอาการป่วยดูคล้ายกับที่บรรยายไว้ข้างต้น แต่ผู้เลี้ยงไม่แน่ใจ หมอผู้เขียนมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้
- ผู้เลี้ยงพาเขาไปอยู่ในกรง หรือพื้นที่เฉพาะ เพื่อเฝ้าดูอาการ
- กรุณาอย่าลืมวางอาหารและน้ำให้เขาด้วย เพราะโอกาสที่เขาป่วยเป็นโรคอื่นนั้นสูงอยู่มาก เนื่องในปัจจุบันพบโรคพิษสุนัขบ้าน้อยลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับในอดีต หากเจ้าของไม่วางน้ำอาหารไว้ หมอเกรงว่า เขาอาจจะทรมานจากการขาดอาหารและน้ำแทน…ซึ่งคงไม่ใช่สิ่งที่ดีเป็นแน่
- จากนั้นโทรตามสัตวแพทย์ใกล้บ้าน ให้หมอมาช่วยประเมินอาการ เจ้าของควรให้สัตวแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยโรคเท่านั้น
การรักษาทำอย่างไร
หากได้รับการยืนยันและวินิจฉัยของสัตวแพทย์แล้วว่าสัตว์น่าจะติดเชื้อ Rabies เมื่อมีอากรป่วยแล้วนั้น จะไม่สามารถรักษาได้ เขามักจะตายใน 7-10 วันต่อมา
หากเจ้าของถูกสัตว์ป่วยกัด และสงสัยว่าอาจมีเชื้อ Rabies ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอย่างทันทีด้วยการฉีดเซรุ่ม ล้างแผลที่สัมผัสเชื้อ รวมถึงรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วย
อย่างที่กล่าวมาข้างต้น อุบัติการณ์โรคนี้น้อยลงมากในปัจจุบัน โอกาสพบเจอจริงๆนั้น จึงน้อยลงไปมาก จึงมีโอกาสค่อนข้างสูงที่สัตว์เลี้ยงเราอาจป่วยด้วยโรคอื่น ดังนั้นสัตว์เลี้ยงควรได้รับการรักษาตามการวินิจฉัยต่อไป อย่างไรก็ตามสัตว์เลี้ยงยังจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างสม่ำเสมอ

สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย
สำหรับข้อมูลการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย จากการรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 18 ราย ซึ่งมาจากจังหวัดบุรีรัมย์ ระยอง สงขลา และตาก จังหวัดละ 2 ราย จากจังหวัดสุรินทร์ ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 ราย โดยข้อมูลการสอบสวนโรคพบว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยไม่ได้รับการฉีดวัคซีนภายหลังจากที่โดนสุนัขกัดหรือข่วน
เมื่อสัตว์เสียชีวิตจากโรคนี้
เราควรต้องระมัดระวังในเรื่องของการจับต้องและห่อหุ้มซากสัตว์อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการปนเปื้อน สิ่งที่ต้องระวังคือ ผู้ที่เก็บซากสัตว์ต้องไม่มีแผลที่มือ ต้องใส่ถุงมือยางชนิดหนา ซากสัตว์และอุปกรณ์ที่เปื้อนให้ฝังดินกลบลึกอย่างน้อย 50 เซนติเมตร
เนื่องจากโรคนี้สามารถกลายเป็นโรคระบาดได้ เราต้องทำการแจ้งความให้กับกรมปศุสัตว์และกระทรวงสาธารณสุขทราบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการสอบสวนแหล่งที่มา และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อการควบคุม และป้องกันไม่ให้การระบาดขยายวงกว้างออกไป
สถานที่ภาครัฐที่ประชาชนสามารถติดต่อเพื่อรายงานโรค
เขตกรุงเทพมหานคร
- สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาคกลาง
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข นนทบุรี
- สำนักงานปศุสัตว์เขต 1 ปทุมธานี
- สำนักงานปศุสัตว์เขต 7 นครปฐม
- สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท
ภาคตะวันออก
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 2 ชลบุรี
- โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี
- สำนักงานปศุสัตว์เขต 2 ฉะเชิงเทรา
- ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ อ.บ้านบึง ชลบุรี
ภาคเหนือ
- ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ อ.ห้างฉัตร ลำปาง
- คณะแพทยศาสตร์ มช.
- สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 เชียงใหม่
- สำนักงานปศุสัตว์เขต 6 พิษณุโลก
- สำนักงานปศุสัตว์ กำแพงเพชร / เพชรบูรณ์
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อ.เมือง เชียงราย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่น
- ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สุรินทร์
- สำนักงานปศุสัตว์ สกลนคร / บุรีรัมย์ / อุดรธานี / กาฬสินธุ์ / ศรีสะเกษ
- สำนักงานปศุสัตว์ ชัยภูมิ / อำนาจเจริญ
- สำนักงานปศุสัตว์ เขต 3 นครราชสีมา
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอนแก่น
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 นครราชสีมา
ภาคใต้
- ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ภาคใต้ อ.ทุ่งสง นครศรีธรรมราช
- สำนักงานปศุสัตว์ เขต 8 สุราษฎร์ธานี
- สำนักงานปศุสัตว์ เขต 9 สงขลา
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 1 สงขลา

- ชีวิตของลา - October 31, 2021
- คอลลี่กับยาไอเวอร์เม็กติน - July 25, 2021
- แมวกินยาพาราไม่ได้! - July 25, 2021