หากสุนัขที่บ้านดูซีดๆ มีเลือดออกไหลไม่หยุด เช่น เลือดกำเดา เส้นเลือดในตาขาวแตกและมีเลือดออก ดูเซื่องซึม ไม่มีค่อยมีเรี่ยวแรงมาระยะหนึ่ง ที่ขาดูบวมๆ เจ้าของควรพิจารณาพาเขาไปตรวจ
เพราะเขาอาจจะกำลังเป็นโรคพยาธิเม็ดเลือด หรือ Tropical Canine Pancytopenia (TCP) หรือ Canine Ehrlichiosis โรคนี้หากวินิจฉัยแล้วแก้ไขให้หายขาดได้
อาการโรคนี้เเป็นอย่างไร
อาการที่พบได้แก่ มีไข้ มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนังหลายจุด เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหลไม่ค่อยหยุด ทั้งหมดเกิดจากสาเหตุผนังหลอดเลือดถูกทำลายพร้อมกับมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (เกล็ดเลือดนั้นมีหน้าที่ทำให้เลือดแข็งตัวและหยุดไหล) บางตัวมีอาการเจ็บข้อร่วมด้วย ม้ามโต โลหิตจาง บริเวณตาขาวมีสีแดงขึ้นจากหลอดเลือดฝอยขยายตัวและอาจมีจุดเลือดออกในลูกตา ปัสสาวะมีสีแดงเพราะมีเลือดปน เป็นต้น
อาการป่วยมีได้หลายระยะ มีตั้งแต่แบบเฉียบพลัน (acute) อาการเพียงเล็กน้อย (subclinical) หรือแบบเรื้อรัง (chronic) สุนัขบางตัวอาจหายเองได้โดยไม่ได้รับการรักษา บางตัวไม่หายป่วยและเข้าสู่ภาวะเรื้อรัง และอาจเสียชีวิตในที่สุดหากไม่ได้รับการรักษาด้วยยาเฉพาะ ดังนั้นโรคนี้จึงสามารถทำให้สุนัขมีอาการป่วยได้นานตั้งแต่แค่สัปดาห์ไปจนเป็นปีๆ

Image from zoetis.com
สาเหตุเกิดจากอะไร โรคนี้ติดง่ายหรือไม่
สาเหตุเกิดจากแบคทีเรียจำพวกริคเค็ทเซีย สายพันธุ์ Ehrlichia โดยมีเห็บ (Tick) เป็นพาหะนำโรค(!)แบคทีเรียจำพวกนี้จะก่อให้เกิดความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ผนังหลอดเลือด และเซลล์ของอวัยวะต่างๆ
โรค TCP นี้พบได้บ่อยในประเทศของเรา เพราะมีเห็บสุนัขเป็นพาหะของโรค เห็บจะมีวงจรชีวิตเป็น 3 ระยะ เจ้าของสุนัขจึงมักเห็นว่ามันมีรูปร่างหลายแบบ แต่จริงๆ มันคือชนิดเดียวกัน (หมอได้เขียนอธิบายเรื่อง เห็บในสุนัข ไว้ในอีกบทความหนึ่ง)
ในโรค TCP นั้น เห็บสุนัขมีบทบาทเป็นเพียงแค่พาหะนำโรค (vector) ไม่ได้เป็นแหล่งรังโรค (reservoir) คือไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อโรคจากแม่เห็บมาสู่ลูกเห็บได้ แต่เห็บที่กินเลือดจากสุนัขที่มีเชื้อนี้เข้ามาในตัวแล้ว เชื้อจะสามารถคงอยู่ในตัวเห็บได้ตลอดไป ถึงแม้ว่าระหว่างการเจริญเติบโตของเห็บจะมีการลอกคราบเปลี่ยนระยะจากตัวอ่อนไปเป็นตัวเต็มวัยได้ก็ตาม นั่นหมายความว่า เห็บจะถ่ายทอดเชื้อแบคทีเรียนี้ไปสู่สุนัขตัวอื่นๆต่อไป ผ่านน้ำลายของเห็บเข้าสู่บาดแผลที่ดูดเลือด โรคนี้นอกจากจะติดต่อโดยมีเห็บพาหะแล้ว ยังสามารถติดต่อจากแม่สุนัขสู่ลูกสุนัขขณะอยู่ในท้องได้ด้วย กรณีนี้ลูกสุนัขมักจะแท้งก่อนกำหนดคลอด หรือเสียชีวิตในช่วงแรกเกิด
รักษาหายหรือไม่
โชคดีที่โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ มียาปฏิชีวนะเฉพาะคือ Doxycycline รักษาใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ขนาดยาที่ให้นั้นขึ้นกับน้ำหนักตัวของสุนัข ผู้เลี้ยงควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาและติดตามอาการของโรค
ต้องกำจัดเห็บซึ่งเป็นพาหะโรคควบคู่ไปด้วย
การให้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคนั้นต้องทำควบคู่ไปกับการกำจัดเห็บบนตัวสุนัข เพื่อมิให้สุนัขติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก และเพื่อป้องกันไม่ให้ติดต่อไปยังสุนัขตัวอื่นๆด้วย การป้องกันโรค TCP ที่มีประสิทธิภาพนั้นทำได้ด้วยการควบคุมและกำจัดเห็บซึ่งเป็นพาหะนำโรค การกำจัดเห็บบนตัวสุนัขนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย ผู้อ่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความชื่อ เห็บในสุนัข หากสนใจรายละเอียดเรื่องการกำจัดเห็บในสุนัข

- ชีวิตของลา - October 31, 2021
- คอลลี่กับยาไอเวอร์เม็กติน - July 25, 2021
- แมวกินยาพาราไม่ได้! - July 25, 2021