จัดเป็นโรคประจำถิ่นของไทย พบการแพร่ระบาดมานานแล้วทั้งในสุนัขเขตเมือง และชนบท จริงๆแล้วโรคนี้มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก
พบได้ทั้งในสุนัขบ้าน และสัตว์ป่าตระกูลสุนัข เพราะเป็นโฮสต์แท้ อีกทั้งยังทำตัวเป็นแหล่งรังโรค (reservoir) นอกจากนี้ยังสามารถแพร่กระจายโรคไปยังแมวและเฟอเร็ทได้ โดยมียุงที่ออกหากินตอนเช้ามืดและพลบค่ำเป็นพาหะนำโรค แต่ก็สามารถพบได้ในยุงลาย ยุงรำคาญ และยุงก้นปล่อง ได้เช่นกัน

สาเหตุเกิดจากอะไร
พยาธิหนอนหัวใจมีชื่อว่า Dirofilaria immitis ชื่อไพเราะแต่พิษสงร้ายกาจมาก เป็นพยาธิที่แยกชนิดเป็นเพศผู้ และเพศเมีย ออกลูกเป็นตัวมีชื่อว่า ไมโครฟิลาเรีย (microfilaria) ตัวผู้และตัวเมียตัวเต็มวัยมีขนาดยาว 12-30 ซม.อาศัยกินอยู่หลับนอนในห้องหัวใจ บางครั้งอาจหลุดเข้าไปอยู่ในหลอดเลือดที่ไปปอด แพร่พันธุ์โดยการออกลูกเป็นตัวอ่อนไมโครฟิลาเรีย ออกสู่กระแสเลือด และวนเวียนอยู่ในหลอดเลือดอย่างนั้นเพื่อยุงที่มาดูดเลือดสุนัข แล้วไหลตามเข้าไปเจริญต่อในตัวยุง
จากนั้นเมื่อยุงไปดูดเลือดสุนัขตัวเดิมหรือสุนัขตัวใหม่ก็แล้วแต่ ก็จะคืบคลานออกมาทางปากยุงแล้วเข้าสู่กระแสเลือดสุนัขอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยอยู่ในห้องหัวใจต่อไป ระยะเวลาเติบโตในตัวยุงประมาณ 15-16 วัน และระยะเวลาจากที่สุนัขได้รับตัวอ่อนจากยุง จนกระทั่งพบพยาธิตัวเต็มวัยได้ในหัวใจ จะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน จากนั้นอีกประมาณ 2 เดือน ก็จะเริ่มปล่อยลูกอ่อนไมโครฟิลาเรียออกสู่กระแสเลือดของสุนัขเพื่อรอยุงมาช่วยแพร่พันธุ์ต่อไป

มีอาการอย่างไร
ความรุนแรงของอาการป่วยจะขึ้นอยู่กับปริมาณพยาธิที่มีอยู่ มักเริ่มด้วยอาการไอเรื้อรัง อ่อนเพลีย หายใจถี่ขึ้นจากการที่หัวใจมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายใน ทำให้การสูบฉีดเลือดไม่สะดวก อาการรุนแรงสูงสุดคือการอุดตันของห้องหัวใจ หรือหลอดเลือดที่ไปปอด ทำให้สุนัขเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน เช่นในบางตัวที่เจ้าของพบว่าสุนัขก็ยังแข็งแรงดี กินอาหารได้ตามปกติ แต่ตื่นเช้ามาพบว่านอนตัวแข็งไปแล้ว ส่วนหนึ่งก็อาจมีสาเหตุมาจากพยาธิหนอนหัวใจดังกล่าว
การตรวจวินิจฉัยโรค
มีหลายวิธี ซึ่งแล้วแต่ระยะของโรค อันได้แก่
- ชุดทดสอบแอนติเจน เป็นการตรวจหาโปรตีนของพยาธิเพศเมียที่หลั่งอยู่ในกระแสเลือด
- การตรวจหาไมโครฟิลาเรียในหยดเลือด
- การ x-ray ช่องอก เพื่อดูลักษณะหลอดเลือด และช่องหัวใจ
- การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง
การเลือกวิธีตรวจวินิจฉัยโรค ควรได้พิจารณาปัจจัยอื่นๆประกอบ ได้แก่ อายุสัตว์ แหล่งกำเนิดสัตว์ ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดโรค เป็นต้น แต่การตรวจวินิฉัยก็อาจมีการผิดพลาดเป็นผลลบเทียมได้ (false negative) ในกรณีดังต่อไปนี้ ได้แก่ การมีพยาธิตัวเต็มวัยเพศผู้แต่เพียงอย่างเดียว หรือการตรวจในช่วงเวลาที่สัตว์เพิ่งรับตัวอ่อนพยาธิเข้าไปไม่เกิน 4-5 เดือน เป็นต้น
การรักษาทำได้ยากมาก ต้องป้องกันก่อนที่จะสายเกินไป
การป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจ ก็คงต้องเริ่มพิจารณาตั้งแต่ลดการสัมผัสกับยุง เช่น การนอนในบ้าน หรือกรงที่มีมุ้งลวดกันยุง แต่หากไม่สามารถกระทำได้ อย่างเช่น สุนัขเฝ้าบ้าน เฝ้าสวน ก็ควรใช้ยาในการป้องกันโรค โดยยาจะเข้าไปทำลายตัวอ่อนของพยาธิที่ยุงนำมาปล่อย มิให้เจริญไปเป็นตัวเต็มวัยในหัวใจได้ ปัจจุบันมียากินป้องกันหลายขนาน สามารถหาซื้อได้ตามคลินิกสัตว์ทั่วไป โดยป้อนให้กินเดือนละ 1 ครั้ง ตลอดอายุที่สัมผัสยุง

โปรดระลึกไว้เสมอว่า พยาธิหนอนหัวใจแม้เพียงตัวเดียว ก็สามารถทำให้สุนัขถึงแก่ชีวิตได้ กรณีที่ไปอุดอยู่ในหลอดเลือดที่จะนำเลือดไปฟอกที่ปอด หรืออุดตันในห้องหัวใจ โดยเฉพาะในสุนัขพันธุ์จิ๋ว เช่น ชิวาวา ปอมเมอราเนียน ยอร์คเชีย เพราะขนาดของห้องหัวใจของเขาช่างน้อยนิด

- ชีวิตของลา - October 31, 2021
- คอลลี่กับยาไอเวอร์เม็กติน - July 25, 2021
- แมวกินยาพาราไม่ได้! - July 25, 2021