We do better when we know

โปรแกรมป้องกันปรสิตภายในและภายนอก

การป้องกันปรสิตสำหรับสุนัขที่บ้าน เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย คุ้มค่า คุ้มเวลา มีประโยชน์เกินราคายา เช่นเดียวกับประโยชน์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค 

ปัญหาปรสิตนั้นกันไว้ดีกว่าแก้แน่ๆ เพราะเป็นภัยคุกคามชนิดเงียบแอบซ่อน กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็มักสายเกินแก้ ใน blog นี้หมอผู้เขียนมีคำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันปรสิตสามชนิดที่พบบ่อยในเมืองไทยมาฝากผู้อ่านค่ะ

พยาธิทางเดินอาหาร

กำจัดพยาธิทางเดินอาหารกันเถอะ

พยาธิทางเดินอาหารในสัตว์เลี้ยงมีได้หลายประเภท ตั้งแต่พยาธิตัวกลม ตัวแบน ตัวตืด มีปากขอ ก็คล้ายๆ กับปัญหาพยาธิในคนเรา พยาธิเหล่านี้หากไม่กำจัดให้เรียบร้อย จะคอยดูดเลือดจากผนังทางเดินอาหารของสุนัขไปเรื่อยๆแบบเรื้องรัง ทำให้สุนัขขาดสารอาหารตลอดเวลาแม้ว่าจะกินข้าวทุกวัน สุนัขมักจะอ่อนแรง ไม่สดใส หน้าตาดูป่วย หงอย ขนแห้งกร้าน บางครั้งอาจมีอาการอาเจียนและพยาธิปนออกมาด้วย(!) ยังไม่พอ หากสุนัขตัวเมียตั้งครรภ์ก็จะสามารถถ่ายทอดตัวอ่อนพยาธิให้กับลูกในท้องโดยตรงได้อีกด้วย

ความถี่ในการป้องกัน

การถ่ายพยาธิทางเดินอาหารสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่สัตว์เลี้ยงยังเด็กด้วยการไปพบสัตวแพทย์ คือ อายุ 2, 4, 6 และ 8 สัปดาห์ เป็นระยะๆ ตามลำดับ หลังจากนั้นสามารถทำการถ่ายพยาธิควบคู่ไปกับการนัดฉีดวัคซีนโรคอื่นเพื่อความสะดวกแก่เจ้าของผู้เลี้ยง

จริงๆแล้ว การถ่ายพยาธิสามารถทำได้บ่อยทุก 3-6 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพการเลี้ยงดูที่บ้านว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด หากมีความเสี่ยงมากก็ไม่จำเป็นต้องรอเวลาตามตารางการฉีดวัคซีนอื่น

พยาธิหนอนหัวใจ

พยาธิหนอนหัวใจน่าสะพรึงมาก ลอง google ดู

พยาธิหนอนหัวใจเมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดและลักษณะเหมือนเส้นสปาเก็ตตี้ สามารถมีได้หลายตัวอาศัยอยู่รวมกันในห้องหัวใจ ในเส้นเลือดใหญ่ และในปอด ด้วยความที่พยาธินี้มีขนาดใหญ่ มันจะอุดกั้นการไหลเวียนของเลือดในหัวใจและเส้นเลือดหลัก ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก สุนัขจะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่ทัน และหัวใจวายในที่สุด หากสุนัขมีพยาธิตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในตัวแล้ว การรักษาจะทำได้ยากมาก และสุนัขมีโอกาสเสียชีวิตได้ง่ายจากการรักษา 

สุนัขที่มีพยาธินั้นจะไม่นำโรคไปติดสุนัขตัวอื่นโดยตรง แต่ยุงจะเป็นพาหะนำโรคตัวสำคัญ เมื่อกัดกินเลือด ยุงจะนำพาตัวอ่อนพยาธิขนาดเล็กไปติดสุนัขตัวอื่นๆ และเมืองไทยเป็นเขตร้อนชื้น ยุงชุกชุมมากตลอดปี จึงมีความคุ้มค่าอย่างมากที่เจ้าของจะพิจารณาทำการป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจให้กับสุนัขที่บ้าน

ความถี่ในการป้องกัน

หมอผู้เขียนแนะนำยากินป้องกันเป็นประจำทุกเดือน โดยเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 9 สัปดาห์ (หากมีความเสี่ยงที่จะติดพยาธิ เช่น นอนตากยุงตั้งแต่แรกเกิด) แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับข้อบ่งใช้ของยาแต่ละชนิดด้วย ยาบางประเภทไม่เหมาะกับสุนัขที่อายุน้อยกว่า 4-6 เดือน เพราะอาจมีอาการแพ้ยาได้ หมอแนะนำให้เจ้าของปรึกษาสัตวแพทย์ใกล้บ้านเกี่ยวกับตัวยาที่จะเลือกนำมาใช้

เห็บ หมัด ไรขี้เรื้อน ไรหู

ความถี่ในการป้องกัน

หมอแนะนำว่า ควรทำเป็นประจำทุกเดือน โดยเลือกยาที่สามารถป้องกันและกำจัดปรสิตภายนอกเหล่านี้ ยาบางชนิดอาจมีฤทธิ์ต่อพยาธิหนอนหัวใจได้ด้วย เริ่มให้ได้ตั้งแต่อายุ 6-8 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับข้อบ่งใช้ของยาแต่ละชนิดด้วย เจ้าของจึงควรพิจารณาปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนการใช้ยา

นอกจากนี้ เจ้าของควรอาบน้ำทำความสะอาดสุนัขที่บ้าน แปรงขน เช็ดหู ตัดเล็บ (หากคมหรือยาวเกินไป) สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

หากผู้อ่านสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาเห็บในสุนัข ก็สามารถอ่านเพิ่มจากอีก blog เรื่อง “เห็บในสุนัข” ซึ่งอธิบายเอาไว้อย่างละเอียด

Yay! we are parasite free!

สพ.ญ. พจมาน วัชราภิชาต
Latest posts by สพ.ญ. พจมาน วัชราภิชาต (see all)