ผู้อ่านบางท่านอาจจะยังไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเห็บสุนัขกับหมัดแมว เนื่องจากว่าทั้งเห็บและหมัด สามารถพบได้บนตัวสุนัข มีตัวสีดำเหมือนกัน แต่บนตัวแมว เรากลับไม่ค่อยพบเห็นเห็บ ส่วนใหญ่มักจะเป็นหมัดหรือเหาเสียมากกว่า
ข้อแตกต่างง่ายๆ ระหว่างเห็บกับหมัดคือ เห็บจะเดินต้วมเตี้ยม และมีรูปร่างได้หลายแบบ เพราะวงจรชีวิตเห็บโดยธรรมชาติมีถึงสามระยะ เวลาเห็บเกาะกินเลือดบนตัวสุนัขจะเกาะติดแน่นจนกว่าจะกินอิ่ม เจ้าของจะสังเกตเห็นได้ค่อนข้างง่าย ในขณะที่หมัดแมวจะมีลักษณะเป็นนักวิ่งโอลิมปิค ไม่เคยอยู่กับที่ เวลาแหวกขนเจอก็จะวิ่งหนีอย่างรวดเร็ว แถมมักเป็นนักกระโดดสูงในตัวอีกด้วย โดดเด้งไปมาโดยเฉพาะเวลาที่อยู่นอกตัวสัตว์ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเห็บหรือหมัด ก็สามารถกัดคนและทำให้เกิดตุ่มคันเป็นแผลได้ อีกทั้งยังสามารถนำโรคติดต่อสู่คนได้
Close up เห็บ
มารู้จักเห็บสักนิด ทำไมตัวเล็กแต่พิษสงร้ายเหลือ ในบ้านเราเห็บมักเป็นชนิด Brown dog tick มีชื่อไพเราะทางวิทยาศาสตร์ว่า Rhipicephalus sanguineus เห็บตัวเมียออกลูกเป็นไข่ได้ถึง 3,000 ฟอง หลังจากฟักออกจากไข่ ลูกเห็บจะเข้าสู่การเจริญเติบโต แบ่งเป็นสามระยะ คือ ตัวอ่อน (larva) ตัวกลางวัย (nymph) และตัวเต็มวัย (adult) โดยเห็บจะทำการลอกคราบเพื่อพัฒนาเข้าสู่ระยะถัดไป
การลอกคราบจะเกิดขึ้นแถวๆบริเวณสิ่งแวดล้อมที่สุนัขอยู่อาศัย การลอกคราบจะสลับไปมากับการไต่ขึ้นมาอยู่อาศัยบนตัวสุนัขเพื่อดูดเลือดเป็นอาหาร บางครั้งเห็บชนิดนี้ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า 3 host tick ซึ่งก็จะเป็นคำตอบให้หลายท่านหายสงสัยว่า ทำไมกำจัดเห็บบนตัวสุนัขหมดแล้ว วันต่อๆมาก็ยังพบเห็บตัวใหม่ขึ้นมาอีก
สุนัขที่นอนในกรงหรือมีที่นอนซ้ำๆ เดิมๆ ทุกวัน จะมีโอกาสพบเห็บบนตัวเขาได้มากกว่าสุนัขที่เปลี่ยนมุมนอนไปเรื่อยๆ การกำจัดเห็บจึงควรทำทั้งบนตัวสุนัขและสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่
ปัจจุบันมีวิธีการกำจัดเห็บบนตัวสุนัขหลากหลายวิธี เช่น รูปแบบยากิน ยาฉีด ยาอาบ ยาหยดที่หลัง ยาสเปรย์พ่น ในขณะที่การกำจัดเห็บในสิ่งแวดล้อมนั้นจะทำได้ค่อนข้างยากกว่า เนื่องจากว่าโดยธรรมชาติแล้วเห็บมักซุกซ่อนเข้าไปลอกคราบตามร่องหลืบหรือรอยแตกร้าวของกำแพง ใต้กระถาง หรือที่อื่นๆ ที่ปลอดภัยจากการคุกคามภายนอก
ระยะฟักไข่ของเห็บมักใช้เวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ จากไข่กลายเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 (Larva) ซึ่งมีขนาดเล็กมากเท่าปลายเข็ม จากนั้นตัวอ่อนจะเคลื่อนย้าย ลงจากที่ซ่อน เป็นกองทัพเห็บทำการขึ้นตัวสุนัข หลังจากที่ดูดเลือดจนอิ่ม เห็นอ่อนเหล่านี้จะร่วงหล่นลงที่พื้น และไต่หาที่เพื่อลอกคราบ เข้าสู่ตัวอ่อนระยะที่ 2 หรือตัวกลางวัย (Nymph) ในระยะนี้เห็บจะมีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 3-4 เท่า หลังจากนี้ก็จะทำการไต่ขึ้นตัวสุนัขอีกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อดูดเลือดอิ่มแล้ว จะมีรูปร่างป่องๆ สีดำขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร แล้วก็จะร่วงลงพื้นอีก เพื่อหาที่ลอกคราบครั้งที่ 3 และพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยในที่สุด (Male or famale adult) เห็บตัวเต็มวัยนั้นสามารถอดทนซุ่มรอเหยื่อได้นานถึง 7-100 วัน แต่โดยค่าเฉลี่ยแล้ว วงจรชีวิตของเห็บใช้เวลาทั้งหมด 48-84 วันตั้งแต่ต้นจนจบ

เมื่อโตตัวเต็มวัย เห็บเพศผู้ และเพศเมีย จะมีรูปร่างเหมือนกันคือ จะมีลำตัวแบนกลม มีขา 8 ขา เดินได้รวดเร็วเพื่อหาเหยื่อ (แต้ก็ยังต้วมเตี้ยม เมื่อเทียบกับหมัดแมว ซึ่งกระโดดไปมาเร็วมาก) เมื่อไต่ขึ้นตัวสุนัขสำเร็จ เห็บจะรีบมุดขนลงไปเกาะผิวหนังในเวลาอันรวดเร็ว เกาะนิ่งเพื่อดูดเลือด ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีการผสมพันธุ์กันระหว่างเพศผู้และเพศเมีย ณ บริเวณที่เกาะกินเลือด เจ้าของสุนัขจึงมักเห็นเห็บเกาะอยู่คู่กันบ่อยๆ หลังการผสมพันธุ์แล้ว เห็บเพศผู้จะพลีชีพไปก่อน เหลือแต่ตัวเมียซึ่งจะมีรูปร่างเปลี่ยนไป คือกลายเป็นตัวนิ่มๆ อ้วน ดูคล้ายเมล็ดข้าวโพด (Engorged) ภายในท้องเต็มไปด้วยเลือดและไข่บรรจุอยู่เต็ม เมื่อดูดเลือดอิ่มแล้ว ก็จะร่วงหล่นลงพื้นเช่นเคย เพื่อไต่หาที่วางไข่ต่อไปในสิ่งแวดล้อมใกล้เคียง หลังจากวางไข่แล้ว เห็บตัวแม่ก็จะตัวแห้งลงและตายไป โดยที่ไม่มีโอกาสชื่นชมลูกๆ ตัวอ่อนที่จะออกมารุกรานสุนัขต่อๆไป บางครั้งเจ้าของอาจพบซากเห็บตัวแม่ติดอยู่ตรงตำแหน่งที่เคยวางไข่ไว้ก่อนตาย
ทำไมเราต้องแคร์ด้วย แค่เห็บตัวเล็กๆ
เห็บในสุนัข นอกจากจะดูดเลือดจนทำให้เกิดภาวะโลหิตจางในสุนัข และบางครั้งอาจทำให้สุนัขถึงตายด้วยแล้วนั้น ก็ยังสามารถเป็นพาหะนำโรคพยาธิเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ในสุนัข ซึ่งได้แก่ โรคบาบีซิโอซีส โรคเฮปาโตซูโนซีส โรคอนาพลาสโมซีส และโรคเออลิชิโอซีส โดยแต่ละโรคสามารถทำให้สุนัขมีอาการแบบชนิดรุนแรง หรือโลหิตจางแบบเรื้อรังได้ บางโรคไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และที่สำคัญคือ เห็บสามารถแพร่โรคเหล่านี้ไปยังสุนัขตัวอื่นได้
ข้อแนะนำสำหรับผู้เลี้ยงสุนัขในการกำจัดเห็บ
หมอผู้เขียนแนะนำให้เจ้าของกำจัดเห็บทั้งที่อยู่บนตัวสุนัข และในสิ่งแวดล้อม (หากเป็นไปได้) เพื่อความต่อเนื่องในการกำจัดเห็บที่ยังซ่อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องให้ยากำจัดเห็บบนตัวสุนัขต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 เดือน (ตามระยะเวลาของวงจรชีวิตเห็บ 48-84 วัน) ระยะห่างของการใช้ยาก็ขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้ เจ้าของสุนัขควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อวางแผนการกำจัดเห็บอย่างมีประสิทธิผล การกำจัดเห็บบนตัวสุนัขมีหลายวิธี เช่น รูปแบบยากิน ยาฉีด ยาอาบ ยาหยดที่หลัง ยาสเปรย์พ่น

หากปล่อยเห็บให้รุมเร้าเป็นเวลานาน
หมอผู้เขียนเคยพบสุนัขที่เจ้าของไม่ดูแล ปล่อยให้มีเห็บทั้ง 3 ระยะอยู่บนตัวสุนัขในทุกๆตารางนิ้ว แหวกขนไปตรงไหนก็เจอเห็บเกาะอยู่เต็มไปหมด น่าทรมานมาก เพราะสุนัขถูกดูดเลือด และสูญเสียเลือดตลอดเวลา ทุกวัน เกิดภาวะโลหิตจางรุนแรง และสุดท้ายไม่สามารถกู้ชีวิตให้เขากลับมาได้ รู้สึกสงสารมาก
เห็บตัวเล็ก แต่อาจไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่หลายคนเข้าใจ การกำจัดเห็บอย่างมีประสิทธิภาพนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแค่เจ้าของใส่ใจดูแล แค่นี้ในบ้านก็จะปลอดเห็บที่นำโรคมาสู่คนในครอบครัวรวมถึงสุนัขที่เรารัก

- ชีวิตของลา - October 31, 2021
- คอลลี่กับยาไอเวอร์เม็กติน - July 25, 2021
- แมวกินยาพาราไม่ได้! - July 25, 2021