We do better when we know

พืชเป็นพิษในสุนัขและแมว

บางครั้งต้นไม้ที่เราปลูกสวยงามภายในบ้านก็อาจเป็นภัยต่อสุนัขและแมวที่บ้านได้ โดยเฉพาะลูกสุนัขที่กำลังซน ชอบกัดแทะสิ่งต่างๆ ไปเรื่อย ซึ่งเป็นธรรมชาติของเขา เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงควรระมัดระวังเหตุการณ์ที่อาจคาดไม่ถึงด้วย

ใน blog นี้ หมอผู้เขียนอยากจะยกตัวอย่างพืชที่พบบ่อยในเมืองไทยแต่มีความเป็นพิษต่อสัตว์ หมอจะอธิบายถึงอาการป่วยของสัตว์เลี้ยง และการแก้ปัญหาเบื้องต้นที่ทำได้ที่บ้านก่อนถึงมือสัตวแพทย์ พืชมีพิษเหล่านี้ทำให้เกิดอาการป่วยได้แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ชนิดของพิษภายในพืชนั้นๆ

หากสัตว์เลี้ยงเผลอกินพืชมีพิษแต่ยังไม่มีอาการ

หากยังไม่แสดงอาการผิดปกติ แนะนำให้กระตุ้นการอาเจียนโดยการป้อนไข่ขาวดิบ หรือน้ำเกลือเข้มข้ม แล้วนำส่งสัตวแพทย์ พร้อมตัวอย่างพืชที่กินเข้าไป

หากสัตว์เลี้ยงแสดงอาการผิดปกติแล้ว

เจ้าของห้ามป้อนสิ่งใด เพราะอาจสำลักและเสียชีวิต ให้รีบนำส่งสัตวแพทย์ พร้อมตัวอย่างพืชเป็นพิษที่สงสัยว่ากินเข้าไป

ตัวอย่างพืชที่มีรายงานความเป็นพิษ ได้แก่

สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Blue-green algae) 

สาหร่ายชนิดนี้พบได้ตามแหล่งน้ำ เหตุการณ์ได้รับพิษเข้าสู่ร่างกายจึงมักเกิดหลังจากที่สุนัขไปว่ายน้ำเล่นในแหล่งน้ำที่มีสาหร่ายกลุ่มนี้เจริญเติบโตอยู่ สุนัขอาจกินสาหร่ายชนิดนี้เข้าไปโดยตรง หรือกินสารพิษที่ตกค้างอยู่ในแหล่งน้ำนั้น

Blue-green algae (Image from Wikipedia.org)

ผลของสารพิษ

สารพิษที่สร้างโดยสาหร่ายชนิดนี้ จะทำให้สุนัขมีอาการอ่อนแรง ท้องเสีย ซีด โดยสังเกตได้จากสีเหงือกและกระพุ้งแก้มที่มีสีซีดลงหากเจ้าของแง้มเปิดริมฝีปากด้านข้างดู ต่อมาจะมีเริ่มเป็นอัมพาต ขาไม่มีแรง ยืน นั่ง หรือเดินไม่ได้ สุดท้ายตับจะวาย และเสียชีวิตภายในเวลาเพียงแค่ 2-3 วัน

ยี่โถ ชวนชม ต้นรัก ต้นตายใบเป็น

กลุ่มพืชนี้ มีความเป็นพิษต่อหัวใจโดยตรง เพียงแค่สัตว์เลี้ยงกัดกินพืชที่ปลูกไว้ หรือแม้แต่การกินน้ำในกระถางที่มีพืชเหล่านี้อยู่ก็เกิดพิษได้ 

ผลของสารพิษ

สัตว์เลี้ยงจะเริ่มจากมีอาการอาเจียน น้ำลายไหลออกมากผิดปกติ ท้องเสียและอาจมีเลือดปน มักพบอาการเหล่านี้ได้ภายใน 30-45 นาทีหลังจากได้รับพิษ เนื่องจากพืชกลุ่มนี้มีพิษต่อหัวใจ จึงทำให้หัวใจเต้นช้าผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจจึงต้องทำงานชดเชยโดยการบีบตัวให้แรงขึ้น สัตวแพทย์จึงมักสังเกตพบว่า ชีพจรนั้นช้าแต่กลับแรง บางตัวอาจมีการเต้นของหัวใจผิดจังหวะร่วมด้วย และสุดท้ายอาจเสียชีวิตได้

ลิลลี่ (Lily)

เป็นพืชที่มีพิษต่อไตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแมว ลิลลี่ชนิดที่มีความเป็นพิษสูงมากคือ Easter lilies

สัตว์ได้รับพิษโดยการกัดกินใบ ลำต้น หรือดอก หรือเพียงแค่เผลอกินน้ำจากกระถางหรือแจกันที่มีดอกลิลลี่ ก็ทำให้เกิดพิษได้

Lily (Image from Pinterest.com)

ผลของสารพิษ

แมวจะเริ่มจากมีอาการเบื่ออาหาร ไม่ค่อยกินข้าว ต่อมาอาเจียน ร่างกายอ่อนแรง พบได้ 6-12 ชม.หลังจากได้รับพิษ หากรุนแรงขึ้นไตจะเริ่มวาย สังเกตได้จากแมวมีปัสสาวะน้อยลง แต่ดื่มน้ำมากขึ้น ท้องเสีย ซึม แมวบางตัวแสดงอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น เดินโซเซ ส่ายหัว ตัวสั่น ชัก

ปรง (Sago palm)

สารพิษที่พบในปรงคือ Cycasin ซึ่งพบได้ในทั่วทุกส่วนของต้นไม้ โดยเฉพาะเมล็ด ปรงเป็นพืชที่ค่อนข้างเป็นพิษ จึงไม่แนะนำให้ปลูกในบ้านที่มีเด็กเล็กหรือสัตว์เลี้ยง 

สาร Cycasin จะถูกเปลี่ยนแปลงในทางเดินอาหาร กลายเป็นสารประกอบใหม่ที่มีความเป็นพิษต่อตับและระบบทางเดินอาหาร สัตว์เลี้ยงมักแสดงอาการหลังรับพิษภายใน 15 นาที หรืออาจนานถึง 3 วันได้

ปรง (Image from thaiza.com)

ผลของสารพิษ

สัตว์ที่รับพิษจะอาเจียน ท้องเสีย และ2-3 วันต่อมา จะเริ่มมีอาการของตับ คือ มีดีซ่าน เจ็บท้องเนื่องจากตับอักเสบ หากได้รับการตรวจเลือดจะพบค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้น สุดท้ายอาจเข้าสู่โคม่าและตายได้

หน้าวัว เงินไหลมา คาลล่าลิลลี่ เขียวหมื่นปี สาวน้อยประแป้ง เดหลี พลูด่าง หนวดปลาหมึก และบอน

พืชกลุ่มนี้เป็นพืชที่ผลิตสารออกซาเลต ผลึกออกซาเลตนั้นมีรูปร่างแหลมคล้ายเข็มและมักอยู่รวมกัน ผลึกออกซาเลตนั้นระคายเคืองผนังทางเดินอาหาร เนื่องจากโครงสร้างผลึกนั้นสามารถทำลายผนังเซลล์ทางเดินอาหารได้โดยตรง

ผลของสารพิษ

การออกฤทธิ์จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภานในไม่กี่นาทีอันเนื่องมาจากผลึกเข็มเหล่านี้ หลังจากกินพืชกลุ่มนี้ สัตว์จะมีอาการปวดบริเวณช่องปากและลำคอ มีการหลั่งน้ำลายออกอย่างมาก เพื่อที่จะพยายามบรรเทาอาการระคายเคือง เขาจะส่ายหัวไปมาตลอด เนื่องจากรู้สึกไม่สบายในลำคอและปาก ต่อมาปากและลิ้นจะเริ่มบวมเนื่องจากภาวะอักเสบที่กำเริบขึ้น ใบหน้าบวม หนังตาบวม น้ำตาไหล และเกิดอาการกลัวแสงตามมา

โกฐน้ำเต้า แชมร๊อค มะเฟือง

เป็นกลุ่มพืชที่มีสารออกซาเลตเช่นกัน แต่สามารถแปรรูปเป็นกรดออกซาลิคได้ด้วย ซึ่งมีผลให้ระคายเคืองผนังทางเดินอาหารจากความเป็นกรด ในขณะเดียวกันสารออกซาเลตในพืชกลุ่มนี้สามารถละลายน้ำและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะทำการจับกับแคลเซียมภายในกระแสเลือด ทำให้ระดับแคลเซียมลดลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งสารประกอบแคลเซียมออกซาเลตที่เกิดขึ้นนี้ยังมีพิษต่อไตโดยตรงอีกด้วย

ผลของสารพิษ

กรดออกซาลิกทำให้ผนังระบบทางเดินอาหารระคายเคือง สัตว์ที่ได้รับพิษจะมีน้ำลายไหลออกมามาก ต่อมาจะเบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย หลังจากมีการสะสมของสารประกอบแคลเซียมออกซาเลตในร่างกายไตจะเริ่มวาย เขาจะมีอาการหิวน้ำ กินน้ำมากผิดปกติ และตามมาด้วยมีปัสสาวะมาก เจ้าของอาจเห็นว่าปัสสาวะมีเลือดปน นั่นเป็นเพราะเซลล์ไตเริ่มถูกทำลาย อาการเหล่านี้จะพบได้ภายใน 24-36 ชม.หลังได้รับสารพิษ

สพ.ญ. พจมาน วัชราภิชาต
Latest posts by สพ.ญ. พจมาน วัชราภิชาต (see all)