สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในสกุลวงศ์ Canidae ดังที่เราได้ยินการเรียกถึงอยู่บ่อยๆว่า เคนายน์ (Canine) หรือ K9
จากการพบหลักฐานฟอสซิล และการวิเคราะห์ในระดับโมเลกุล หรือ DNA ทำให้สันนิษฐานว่าสุนัขพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในโลกนี้มีต้นกำเนิดจากสุนัขป่ามาตั้งแต่ 32,000 ปีก่อน ต่อมาได้มีการพัฒนาสายพันธุ์มาตามลำดับจากหลายๆแหล่ง เมื่อได้สายพันธุ์หรือลักษณะที่มีความคงที่แล้ว ทั้งในด้านรูปร่าง น้ำหนัก อุปนิสัย รวมถึงด้านพันธุกรรม ก็จะจัดว่าเป็นสุนัขพันธุ์ใหม่ และมีการตั้งชื่อสายพันธุ์นั้นๆ ขึ้นมา
ในปัจจุบันมีสุนัขมากกว่า 120 สายพันธุ์ที่ได้รับการรับรองว่าเป็นสุนัขพันธุ์แท้ มีการจำแนกสายพันธุ์ต่างๆตามวัตถุประสงค์ของพัฒนาพันธุ์ ซึ่งจะมีลักษณะทางกายภาพ อุปนิสัย และความสามารถที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่
- สุนัขล่าเนื้อ (Hound)
- สุนัขเทอร์เรีย (Terriers)
- สุนัขทำงาน (Working dogs)
- สุนัขตุ๊กตา (Toy dogs)
- สุนัขอเนกประสงค์
“สุนัขพันธุ์ไทยหลังอานของเรา จัดอยู่ในกลุ่มสุนัขล่าเนื้อ (Hound)”
— Interesting fact
เนื่องจากมีสุนัขมากกว่า 120 สายพันธุ์ จึงย่อมมีความแตกต่างกันมากในเรื่องขนาดและน้ำหนัก มีตั้งแต่ขนาดเล็กสุดน้ำหนักไม่ถึง 1 กิโลกรัม ได้แก่ ยอร์คชายเทอร์เรีย ชิวาวา ปอมเมอราเนียน ไปจนถึงขนาดน้ำหนักมากกว่า 50 กิโลกรัม ได้แก่ เซนต์เบอร์นาร์ด บูลมาสติฟ เกรทเดน ร็อทไวเลอร์ เป็นต้น สุนัขที่มีน้ำหนักมากที่สุดในโลก คือ พันธุ์อิงลิชมาสติฟ มีน้ำหนักถึง 177.6 กิโลกรัม
โดยไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหน ก็จะมีสิ่งที่เหมือนกัน คือ ระยะเวลาที่เกี่ยวข้องกับการดำรงเผ่าพันธุ์ ได้แก่
- วงรอบการเป็นสัด (Estrus cycle) หรือเรียกง่ายๆ ว่าวงรอบการผสมพันธุ์ 4-6 เดือน
- ระยะเวลาของการเป็นสัดหรือมีประจำเดือน 3 สัปดาห์
- ช่วงเวลาไข่ตกพร้อมรับผสมจากตัวผู้คือระหว่างวันที่ 7-12 นับจากวันแรกที่มีประจำเดือนและอวัยวะเพศจะบวมอย่างเห็นได้ชัด
- ระยะเวลาตั้งท้อง 57-72 วัน นับจากวันผสมวันแรก
- ระยะเวลาหย่านม 45 วัน
จะมีเรื่องที่แตกต่างระหว่างสายพันธุ์ คือ อายุที่เริ่มเป็นหนุ่ม สาว และ อายุขัย โดยสุนัขพันธุ์เล็กจะเป็นหนุ่มสาวและพร้อมเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้เร็วกว่าพันธุ์ใหญ่ อาจพบว่ามีอายุเพียง 5-6 เดือน ก็เริ่มมีประจำเดือน (Menstruation) หรือที่เรียกว่าเป็นสัด (Heat) พร้อมรับผสมเพื่อตั้งท้องสืบทายาทต่อไป ส่วนพันธุ์ใหญ่ มักจะพบเมื่ออายุ 10-12 เดือนขึ้นไป
ส่วนอายุขัยที่แตกต่างกันนั้น สุนัขยิ่งพันธุ์เล็กจะยิ่งมีชีวิตที่ยืนยาวกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่อย่างชัดเจน เช่น ชิวาวา จะมีอายุได้ถึง 17-19 ปี อันนี้หมายถึงแก่ตาย มิใช่ตายจากโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น เยอรมันเชพเพอด จะมีอายุขัยอยู่ที่ 12-13 ปี เป็นต้น
ดังนั้น สำหรับผู้ที่คิดจะเลี้ยงสุนัข ก็ขอให้เลี้ยงด้วยความต้องการจริงๆ มิใช่ชอบเพราะความน่ารักของเขาตอนเป็นลูกสุนัข ควรตัดสินใจให้แน่วแน่เสียก่อนที่จะซื้อเขามาเลี้ยง เพราะเขาจะต้องอยู่กับเรานานถึงนานมาก รวมถึงผู้ที่จะเริ่มต้นอาชีพเพาะพันธุ์สุนัขขายด้วย เพราะเขามีช่วงเวลาที่จะทำรายได้ให้กับเราจนถึงอายุแค่ 8 ปี เท่านั้น หลังจากนั้นเราจะต้องดูแลเขาไปตลอดอายุขัย เคยมีกรณีที่เลี้ยงไม่ไหว มีรายได้จำกัด ย้ายบ้านหนีแล้วทิ้งสุนัขไว้ให้เป็นภาระของเพื่อนบ้านก็มีให้พบเห็นอยู่บ่อยๆ อันนี้ผู้เขียนขอยกเว้นในกรณีของผู้มีจิตเมตตาที่จะรับอุปการะสุนัขกำพร้า สุนัขจรจัด สุนัขที่น่าสงสารอื่นๆ ก็ไม่ต้องคิดมาก รับเขามาเลย ดีกว่าปล่อยให้เขาทนทุกข์บนโลกใบนี้

- ชีวิตของลา - October 31, 2021
- คอลลี่กับยาไอเวอร์เม็กติน - July 25, 2021
- แมวกินยาพาราไม่ได้! - July 25, 2021