เมื่อลูกสุนัขอายุได้ 3 สัปดาห์ ควรนำไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการป้อนยาถ่ายพยาธิลำไส้
ลูกสุนัขมักได้รับตัวอ่อนพยาธิปากขอ และพยาธิไส้เดือนจากแม่สุนัขตั้งแต่ยังอยู่ในท้อง และหลังคลอดผ่านทางน้ำนม เราจึงมักพบพยาธิออกมาจากลูกสุนัขได้ทั้งๆ ที่มีอายุเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น
เมื่ออายุได้ 2 เดือน ก็ได้เวลาพาเจ้าตัวน้อยไปพบสัตวแพทย์เพื่อเริ่มต้นฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามโปรแกรมด้านล่างนี้ สุนัขที่ได้รับวัคซีนครบจะมีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคติดต่อรุนแรงได้
โปรแกรมการฉีดวัคซีนสุนัข
อายุ 2 เดือน – วัคซีนลำไส้อักเสบ + ถ่ายพยาธิ + ไข้หัดสุนัข เข็มที่ 1
อายุ 3 เดือน – วัคซีนลำไส้อักเสบ + ถ่ายพยาธิ + ไข้หัดสุนัข เข็มที่ 2 + พิษสุนัขบ้า เข็มที่ 1
อายุ 4 เดือน – วัคซีนลำไส้อักเสบ + ถ่ายพยาธิ + ไข้หัดสุนัข เข็มที่ 3 + พิษสุนัขบ้า เข็มที่ 2
หลังจากจบคอร์สแรก 1 ปี …
ปีต่อๆไป – กระตุ้นวัคซีนรวมโรค + พิษสุนัขบ้า ปีละ 1 ครั้ง
โดยวัคซีนรวมโรคที่จำหน่ายในไทยนั้น จะประกอบไปด้วย
- โรคลำไส้อักเสบ
- ไข้หัดสุนัข
- ตับอักเสบจากไวรัส
- ไข้ฉี่หนู
- พาราอินฟลูเอ็นซ่า
- ส่วนโรคพิษสุนัขบ้า อาจมีรวมอยู่ในเข็มเดียวกัน หรือแยกเข็มก็ได้
การกำจัดเห็บ-หมัด
ก็สามารถกระทำได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือนเป็นต้นไปตามข้อบ่งใช้ของยาแต่ละชนิด เพราะในปัจจุบันก็มียากำจัดเห็บหมัดออกมาจำหน่ายมากมาย และมีความปลอดภัย ยกเว้นยาไอเวอร์เม็กตินที่ไม่สามารถให้ในลูกสุนัขอายุ 2 เดือนได้ ยานี้สามารถให้ได้ในสุนัขอายุ 4-6 เดือนขึ้นไป อีกทั้งไม่สามารถให้ในสุนัขที่มีเชื้อสาย Collie ได้
ขอแจ้งเตือนเจ้าของสุนัข ! ที่ไปหาซื้อยากำจัดเห็บหมัดตามตลาดนัดหรือร้านค้าทั่วไปมาใช้ ให้พึงระวังยาเถื่อน (ไม่มีทะเบียนยา)
ผู้เห็นแก่ได้ ไม่รับผิดชอบชีวิตสัตว์ ได้ผลิตยาไอเวอร์เม็กตินขนาดยาสูงมากๆ ออกมาจำหน่ายในราคาไม่แพง มีทั้งที่เป็นเม็ด และเป็นผง เช่น ยาที่มีชื่อว่าเอ็นเด็กซ์ หมอผู้เขียนมีความเห็นว่า ยาประเภทนี้มีอันตรายมาก เพราะการที่สุนัขได้รับยาในระดับที่สูงเกินระดับความปลอดภัยทางการแพทย์ จะเป็นอันตรายต่อตับ-ไต และอาจเสียชีวิตได้ อาการที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลันคือ มีอาการมึนงง เดินเซ เพราะยาไปกดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง สุนัขมักเสียชีวิตในเวลาต่อมา หรือสุนัขไม่ตายเพราะยาก็อาจเดินมึนงงไปให้รถเฉี่ยวชนเสียชีวิตได้ ที่ผ่านมา องค์การอาหารและยา (อย.) ร่วมกับ กรมปศุสัตว์ ก็พยายามกวาดล้างมาโดยตลอด

- ชีวิตของลา - October 31, 2021
- คอลลี่กับยาไอเวอร์เม็กติน - July 25, 2021
- แมวกินยาพาราไม่ได้! - July 25, 2021