ผู้เลี้ยงหลายท่านอาจไม่เคยมีประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับแม่สุนัขหลังคลอดและลูกสุนัขแรกเกิด อาจทำให้รู้สึกว่า ไม่รู้จะดูแลลูกสุนัขครอกใหม่อย่างไร แม่สุนัขจะให้เข้าใกล้ไหม จะให้อาหารเขายังไง
จริงๆแล้ว ในความเห็นของหมอผู้เขียน การดูแลสุนัขหลังคลอดนั้นไม่ยากเลย เพียงแค่ผู้เลี้ยงรู้เกร็ดและเคล็ดลับ ก็จะสามารถเลี้ยงดูแม่สุนัขและลูกๆ แรกเกิดของเขาได้อย่างสบายๆ ในบทความนี้ หมอมีคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลหลังคลอดสำหรับทั้งแม่และลูกสุนัข ที่เจ้าของสุนัขสามารถนำไปใช้ได้โดยง่าย
การดูแลแม่สุนัขหลังคลอด
แม่สุนัขและลูกๆ ควรได้รับการจัดสถานที่อยู่ในจุดที่สงบ อากาศถ่ายเทได้ดี ปลอดยุง แมลงวัน และสัตว์อื่นๆ โดยเฉพาะสุนัขตัวอื่นที่อาจเข้ามารบกวนหรือทำร้ายลูกสุนัขได้ ตามธรรมชาติแล้วในระยะหลังคลอดใหม่ๆ แม่สุนัขจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ดุหรือก้าวร้าวมากขึ้น เนื่องจากหวงแหนลูก อาจทำให้มีการทำร้ายซึ่งกันและกันกับสุนัขตัวอื่น หรืออาจกัดบุคคลที่เข้าไปรบกวนเขาได้ โดยเฉพาะคนที่แปลกหน้า ดังนั้นการจัดสถานที่สำหรับแม่สุนัขและลูกๆ นั้นสำคัญมาก ควรมีความเป็นส่วนตัวเพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัย
แม่สุนัขหลังคลอดมักมีภาวะเครียด (stress) โดยธรรมชาติ จึงควรงดการอาบน้ำไปก่อน และหากเขาคิดว่าลูกๆ อยู่ในสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย เขาก็จะมีความกังวลตลอดเวลา ทำให้มีความเครียดเพิ่มขึ้นไปอีก
การให้น้ำและอาหารต้องมีให้อย่างเพียงพอ ในระยะ 2-3 วันแรกหลังคลอด แม่สุนัขอาจจะยังเบื่ออาหารทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นระยะที่ร่างกายต้องการสารอาหารอย่างมาก เพื่อนำไปสร้างน้ำนมและชดเชยร่างกายภายหลังคลอด
การให้วิตามิน แร่ธาตุ และแคลเซียม เป็นสิ่งจำเป็นในระยะให้นมลูก เพื่อให้น้ำนมมีคุณภาพและลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะไข้น้ำนม ซึ่งภาวะไข้น้ำนมนี้ หากเป็นรุนแรงจะทำให้แม่สุนัขเสียชีวิตได้ (ผู้เลี้ยงสามารถอ่านบทความชื่อเรื่องภาวะไข้น้ำนมได้) นอกจากอาหารเสริมที่กล่าวแล้ว หมอผู้เขียนอยากเน้นย้ำเคล็ดไม่ลับของอาหารเสริมธรรมชาติที่ดีเยี่ยม คือ ไข่ไก่ต้ม วันละ 1-2 ฟอง อาจให้เฉพาะไข่แดงต้มสุกก็ได้ ในไข่แดงมีความสมดุลของแร่ธาตุ วิตามินต่างๆครบถ้วน ทำให้รักษาสมดุลของการดูดซึมอาหารของแม่สุนัขได้เป็นอย่างดี จากประสบการณ์ของหมอที่เลี้ยงแม่สุนัขมามากมาย ไม่เคยพบแม่สุนัขตัวใดเป็นไข้น้ำนมอีกเลย นับตั้งแต่เสริมการกินไข่ต้มเป็นประจำทุกวันภายหลังการคลอดลูกสุนัขจนถึงวันหย่านมลูก
การดูแลลูกสุนัขแรกเกิด
ลูกสุนัขแรกคลอดจะกินนมทุกๆ 2-3 ชม. หากกินอิ่มจะพบว่าท้องขยายใหญ่และนอนหลับสนิทดี แต่หากยังหิวนมก็จะร้องและไม่ยอมนอน ท้องจะแฟบ สังเกตได้ไม่ยาก
หากผู้เลี้ยงพบว่า ลูกสุนัขร้องไม่หยุด อาจเป็นไปได้ว่า
- น้ำนมแม่ไม่พอ หรือ
- บริเวณสถานที่อยู่นั้นร้อนอบอ้าวหรือหนาวเย็นเกินไป
หากแม่สุนัขมีน้ำนมไม่พอ เจ้าของต้องช่วยให้น้ำนมเสริมแก่ลูกสุนัข ซึ่งทำได้ง่ายๆ โดยใช้กระบอกฉีดยาไซริงจ์ขนาดเล็ก (Syringe) หยดน้ำนมใส่ปาก หรือใช้ขวดนมสำหรับลูกสุนัข (หากมีจุกและขวดนมในขนาดที่เหมาะสม) ต้องระมัดระวังอย่าให้ลูกสุนัขสำลักนมลงหลอดลม เพราะระบบการกลืน (ที่ไม่ใช่จากการดูด) ยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงอาจสำลักได้ง่าย ผู้เลี้ยงควรป้อนนมช้าๆ สักพักอาจสังเกตเห็นท้องเริ่มขยายใหญ่ หรือลูกสุนัขเริ่มหันหน้าหนีปฏิเสธไม่อยากกินนมต่อ ก็ค่อยหยุดป้อนได้ สิ่งที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งซึ่งประมาทไม่ได้เลย คือความสะอาดของอุปกรณ์ที่ให้นม เจ้าของจำเป็นต้องล้างให้สะอาดทุกครั้งหลังการใช้งาน และหากเป็นไปได้ควรเตรียมน้ำนมใหม่ในทุกครั้ง ไม่ควรเก็บไว้นานเกินกว่า 2-3 ชั่วโมง เพราะอาจบูดเสียได้

ลูกสุนัขแรกคลอดควรได้รับนมน้ำเหลือง (Colostrum) จากแม่ ซึ่งจะมีในช่วง 2-3 วันแรกเท่านั้น เพื่อถ่ายทอดภูมิคุ้มกันโรคจากแม่สู่ลูก และจะหมดไปเมื่อลูกสุนัขอายุได้ 8-10 สัปดาห์ ลูกสุนัขช่วงอายุ 2-3 สัปดาห์ ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 10 – 15% ต่อวัน

ลูกสุนัขเกิดใหม่ยังมีเปลือกตาและช่องหูที่ปิดอยู่ มักจะลืมตาได้เมื่ออายุ 11-14 วันไปแล้ว และช่องหูจะเปิดเมื่ออายุ 3 สัปดาห์ ในเรื่องความสะอาด ช่วงแรกๆ แม่สุนัขจะเลียทำความสะอาดสิ่งขับถ่ายจากลูกทุกตัว

- ชีวิตของลา - October 31, 2021
- คอลลี่กับยาไอเวอร์เม็กติน - July 25, 2021
- แมวกินยาพาราไม่ได้! - July 25, 2021