การเลี้ยงสุนัขอย่างรับผิดชอบคือการให้การคุมกำเนิดกับเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหมันถาวร
เว้นแต่ว่าเจ้าของต้องการมีลูกสุนัขจริงๆ แต่หากไม่ต้องการ หมอผู้เขียนแนะนำให้คุมกำเนิดเขา เพื่อไม่ให้เกิดภาวะมดลูกอักเสบเป็นหนองเมื่อสุนัขมีอายุมากขึ้น
วิธีคุมกำเนิดที่ดีที่สุดในสุนัข คือการผ่าตัดทำหมันในเพศเมีย เจ้าของบางท่านต้องการคุมกำเนิดประชากรสุนัขในบ้าน แต่นำเฉพาะสุนัขเพศผู้ไปทำหมัน เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ที่ถูกวิธีนั้นคือการนำสุนัขเพศเมียไปรับการผ่าตัดทำหมันถาวร
การคุมกำเนิดอีกวิธีหนึ่งคือการฉีดยาคุม หมอไม่แนะนำอย่างมาก เพราะการฉีดยาคุมกำเนิดให้สุนัขมีสิ่งต้องระวังมากมายเพื่อไม่ให้เกิดผลร้าย แต่ผลดีมีเพียงน้อยนิดเท่านั้น เช่น สะดวกเจ้าของ (แต่ก็แค่ในเบื้องต้น) ราคาไม่แพง สุนัขไม่เจ็บตัว (แต่ก็แค่ในเบื้องต้น)
เจ้าของสุนัขต้องทำความเข้าใจก่อนนะคะว่า ยาฉีดคุมกำเนิดนั้นไม่ว่าจะเป็นยาตัวใดก็ตาม มีผลท้ายสุดเหมือนกันคือ มันเป็นเพียงแค่การระงับการตั้งท้องแบบชั่วคราวเท่านั้น ยาเหล่านี้ไม่สามารถทำให้สุนัขเป็นหมันถาวรได้ตลอดชีวิต เพียงแค่รังไข่เขาจะฟื้นตัวกลับมาทำหน้าที่ได้ตามปกติไม่ช้าก็เร็วเท่านั้น และในทางปฏิบัติจริงๆ เจ้าของเองก็คงไม่สามารถฉีดยาคุมให้กับเขาได้ไปตลอดชีวิต
** จากประสบการณ์ส่วนตัวของหมอเอง เจ้าของสุนัขควรให้สุนัขทำหมันตั้งแต่เริ่มแรก ถือเป็นวิธีการดีและมีประสิทธิผลที่สุด **
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ต้องไม่นำยาคุมสำหรับคน มาฉีดให้กับสุนัขหรือแมวโดยเด็ดขาด ยาเหล่านี้เหนี่ยวนำให้เกิดมดลูกอักเสบเป็นหนอง และมะเร็งเต้านมถึงแม้ฉีดเพียงเข็มเดียวก็ตาม อันตรายมากๆ
ปัจจุบันมียาคุมของสัตว์ที่ปลอดภัยมากขึ้น แต่ราคาสูง และ ณ เวลาที่เขียน blog นี้ (ปี 2562) ประเทศไทยไม่มีผู้นำยาเหล่านี้เข้ามาจำหน่าย แต่หมออยากจะกล่าวถึงสักเล็กน้อยคือยา Covinan ซึ่งใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังสุนัขในเดือนที่ 1, 4, 8 และต่อไปทุกๆ 5 เดือนตลอดไป โดยยาตัวเดียวกันสามารถใช้ฉีดคุมกำเนิดในแมวได้ด้วย โดยจะให้ฉีดทุกๆ 3 เดือน
สิ่งที่ต้องระวังหากคิดจะฉีดยาคุมแบบชั่วคราว
ก่อนจะใช้ยาคุมกำเนิดทุกชนิด ต้องมีการซักประวัติอย่างละเอียด และระมัดระวังอย่างมากในเรื่องระยะวงรอบการเป็นสัดของสุนัข
- ไม่ฉีดยาคุมกำเนิดในช่วงเวลาเป็นสัด (หรือที่มักเรียกกันว่า heat) เพราะมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นภาวะมดลูกอักเสบเป็นหนอง เจ้าของสามารถสังเกตว่า สัตว์เลี้ยงเป็นสัดหรือไม่ โดยในสุนัข การเป็นสัดจะเป็นช่วงเวลาที่อวัยวะเพศบวมและมีเลือดไหลออกมาบางครั้ง ซึ่งอาจจะอยู่นานถึง 3 อาทิตย์ ส่วนในแมว ตัวเมียจะร้องหง่าว เพื่อเรียกร้องหาตัวผู้
- หากเจ้าของไม่รู้ประวัติที่ชัดเจนแน่นอนมาก่อนว่า สุนัขได้รับการผสมพันธุ์จากเพศผู้มาแล้วหรือไม่ เพราะหากผสมไปแล้ว ต่อให้ฉีดยาคุมไป สุนัขก็จะยังคงตั้งท้องตามปกติ แต่เมื่อถึงเวลาคลอด ผลของยาคุมที่ฉีดไปจะยับยั้งการเหนี่ยวนำของฮอร์โมนที่ทำให้มดลูกบีบตัวเพื่อช่วยคลอดลูก ผลลัพธ์คือ ลูกสุนัขก็จะติดคาอยู่ในท้อง เสียชีวิต และเน่าอักเสบอยู่ภายในท้องแม่สุนัข เป็นเรื่องใหญ่เลยทีเดียว
การฉีดยาคุมกำเนิดในสุนัขให้ปลอดภัย เป็นเรื่องละเอียดอ่อน พลาดพลั้งได้โดยง่าย เจ้าของต้องใส่ใจในรายละเอียดอย่างมาก ต้องมั่นใจในประวัติที่ให้กับสัตวแพทย์จริงๆ และเมื่อฉีดไปแล้ว ก็ต้องกลับมาฉีดอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดหายไป ไม่เช่นนั้นแล้วสุนัขอาจท้องโดยไม่ตั้งใจ และสุดท้ายลูกสุนัขที่ออกมาอาจไม่มีใครต้องการ
หากเจ้าของเลี้ยงสัตว์ด้วยความรัก ก็ควรพาเขาไปทำหมันถาวร อย่าเลือกการฉีดยาคุมแบบชั่วคราวเลย

- ชีวิตของลา - October 31, 2021
- คอลลี่กับยาไอเวอร์เม็กติน - July 25, 2021
- แมวกินยาพาราไม่ได้! - July 25, 2021